ค่ายมือถือเปิดสมรภูมิชิงแชร์ AIS ชูเบอร์ 1 คลื่น”ทรู”ท้าชนลุยซิมเฉพาะ

เอไอเอสชูเบอร์ 1 คลื่นในมือมากสุด ชี้ได้ความถี่ 1800 อีก 5 MHz ช่วยอัพสปีดดาต้าได้อีก 30% รองรับลูกค้าเพิ่ม 33% ฟากดีแทคมั่นใจลูกค้า 4G ไม่กระทบมีทั้ง 2100 MHz และ 2300 MHz ให้ใช้ เร่งเจรจาแคทโรมมิ่งดาต้า 4G บน 850 MHz ขณะที่ทรูลุยตลาดเดือดเปิดซิมเจาะเซ็กเมนต์พร้อมชิงเบอร์ 1 ภายในปี”63

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า ปัจจุบันลูกค้าใช้โมบายดาต้า 8.9 GB ต่อเดือน เพิ่มจาก 7.3 GB ณ สิ้นปี 2560 ทั้งมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง รวมถึงยังมีลูกค้าที่ใช้งาน 4G มากกว่า 22 ล้านราย

ขณะที่เป้าหมายสำคัญของเอไอเอสคือการมอบประสบการณ์ดิจิทัลที่ดีที่สุดอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้น การประมูลคลื่น 1800 MHz เพิ่มจึงเป็นการลงทุนสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งของโครงข่าย

“แค่ 5 MHz เหมือนนิดเดียว แต่เมื่อรวมกับที่เรามีอยู่แล้ว เป็นประโยชน์มหาศาล ทำให้คลื่น 1800 MHz ในมือมีถึง 40 MHz (รวมทั้งขาขึ้นและขาลง) กลายเป็น “ซูเปอร์บล็อก” ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่สมาร์ทโฟนจะรองรับได้ จากนี้พรีเซนเตอร์ของเราทุกคนมีภารกิจที่จะสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ให้ถึงลูกค้าของเรา ซึ่งโครงข่ายที่ดีย่อมดึงดูดลูกค้าให้เพิ่มขึ้นแน่นอน”

ดังนั้น ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย.-ต.ค. 2561 ที่เอไอเอสเข้าไปใช้งานคลื่นได้แล้ว ความเร็ว 4G บนโครงข่าย 1800 MHz มีความเร็วเพิ่มสูงขึ้นทันทีโดยไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม และทำให้มีคลื่นถึง 120 MHz (ทั้งขาขึ้น-ขาลง)เป็นค่ายมือถือที่มีความถี่มากที่สุดในประเทศ

โดยมีทั้งคลื่น 900 MHz จำนวน 20 MHz คลื่น 1800 MHz จำนวน 40 MHz และคลื่น 2100 MHz จำนวน 60 MHz ซึ่งมีทั้งที่ประมูลมาได้และที่เป็นพันธมิตรกับบมจ.ทีโอที

“เดิม 4G บนคลื่น 1800 MHzสปีดสูงสุดอยู่ที่ 300 Mpbs เมื่อได้คลื่นเพิ่มอีก 5 MHz ความเร็วจะเพิ่มได้อีก 30% คือขึ้นไปได้สูงสุดถึง 390 Mpbs และไม่ใช่เฉพาะสมาร์ทโฟนรุ่นไฮเอนด์ แต่สมาร์ทโฟนทุกรุ่นจะได้ประโยชน์ทั้งหมด และรองรับลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 33% ที่สำคัญคือคลื่น 1800 MHz ก็สามารถนำมาใช้ให้บริการ 5G ได้ด้วย เป็นการเตรียมเพื่อเทคโนโลยีถัดไปด้วย”

และไม่ใช่แค่ลูกค้าที่ใช้เพื่อการสื่อสารทั่วไป แต่เกิดประโยชน์กับลูกค้าที่ใช้บริการด้วยเทคโนโลยี IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) บนเครือข่าย NBIoT & eMTC ซึ่งโครงข่ายทั่วประเทศแล้ว

“ส่วนการประมูลคลื่นในอนาคตนั้นบอกได้เพียงว่า คลื่นเป็นของหายาก เมื่อมีโอกาสบริษัทก็พร้อมเข้าร่วม แต่ทั้งหมดบอร์ดบริหารคือผู้ตัดสินใจ”

ดีแทคเร่งเจรจาแคท

แหล่งข่าวภายใน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คลื่น 1800 MHz ที่ได้มาจะนำมาใช้ให้บริการทั้ง 2G และ 4G ซึ่งมั่นใจว่าเพียงพอกับการให้บริการลูกค้าอย่างแน่นอน แม้ว่าเดิมจะใช้คลื่น 1800 MHz ภายใต้สัมปทานทั้ง 45 MHz เพื่อให้บริการ 4G แต่ปัจจุบันบริษัทมีโครงข่าย 4G ให้บริการลูกค้าอยู่แล้วทั้งย่าน 2100 MHz ซึ่งขยายโครงข่ายได้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้วกว่า 20,000 สถานีฐาน ทั้งยังมีย่าน 2300 MHz ที่กำลังขยายโครงข่ายเพื่อให้บริการ 4G เช่นกัน โดยตามแผนการลงทุนที่ตั้งไว้ปีนี้จะขยายโครงข่ายนี้ได้ถึง 7,000 สถานีฐาน ครอบคลุม37 จังหวัด และจะครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2562

“ปัจจุบันดีแทคมีลูกค้าใช้บริการ 4G กว่า 39% ของฐานลูกค้าทั้งหมด หรือราว 8.5 ล้านเลขหมาย ซึ่งในจำนวนนี้ 70% ใช้สมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งานบนคลื่น 2300 MHz อยู่แล้ว และจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวหลังจากนี้เกือบทั้งหมดรองรับคลื่น 2300 MHz ส่วนลูกค้าที่เหลือก็สามารถใช้งาน 4Gบนคลื่น 2100 MHz ได้ จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในการให้บริการกับลูกค้า”

ทั้งดีแทคยังคาดหวังว่า กสทช.จะอนุมัติให้เข้าสู่มาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานบนคลื่น 850 MHz และคลื่น 1800 MHz เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งดีแทคและ กสทช. เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านระบบไม่เกิดผลกระทบกับลูกค้า

“ดีแทคก็ได้เจรจาร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เพื่อทำสัญญาโรมมิ่ง 4G บนคลื่น 850 MHz ด้วย ซึ่งหากแคทให้โรมมิ่งวอยซ์ได้ก็จะช่วยลดปัญหาความครอบคลุมโครงข่ายที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากสิ้นสุดสัมปทานโดยไม่ได้สิทธิ์เยียวยา แต่จริง ๆ แล้วเดิมย่าน 850 MHz ดีแทคนำไปใช้ให้บริการ 4G อยู่ ดังนั้น จะต้องเจรจาเพื่อให้ได้โรมมิ่งดาต้า 4G บนคลื่น 850 MHz ด้วย เพื่อให้บริการโมบายดาต้า 4G เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในระหว่างเปลี่ยนผ่านระบบและขยายโครงข่าย 2300 MHz”

ทรูปั้นกลยุทธ์ตลาดลุยชิงแชร์

นายสกลพร หาญชาญเลิศ รักษาการผู้อำนวยการธุรกิจโมบาย สายงานโมบาย พรีเพย์และน็อนวอยซ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแข่งขันของโอเปอเรเตอร์หลังจากนี้น่าจะดุเดือดขึ้น เพราะมีความชัดเจนเรื่องคลื่นแล้ว ดังนั้นทุกรายจะกลับมาดูจุดแข็ง-จุดอ่อนของคู่แข่ง เพื่อหากลยุทธ์ตลาดต่อไป

“ทรูมูฟ ไม่ประมูลเพราะมีคลื่นพอ โดยเฉพาะย่านความถี่ต่ำที่ครอบคลุมได้กว้างและไม่ต้องลงทุนสูง ซึ่งการไม่เข้าประมูลคลื่นเชื่อว่าไม่มีผลกับความมั่นใจกับลูกค้า แต่อย่าง 2 ค่ายที่ได้คลื่นไปจะทำอะไรบ้าง เพราะรายแรกรับคลื่นไปเพิ่ม ทำให้ศักยภาพที่ดีขึ้นยังดี แต่อีกรายหนึ่งได้ไป 5 MHz จะนำไปทำอะไร จะเพียงพอหรือคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเป็นย่านความถี่สูง ทำให้ต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้น”

ขณะที่ ทรูมูฟ เอช ตั้งเป้าหมายขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดภายในปี 2563 และเป้าหมายระยะสั้น คือ มีมาร์เก็ตแชร์ 50% ในกรุงเทพฯ ภายในปีนี้ กลยุทธ์ที่จะเน้นคือการเจาะกลุ่มให้ตรงผู้บริโภคที่สุด เพราะตลาดมีหลากเซ็กเมนต์ เช่น ก่อนหน้านี้ได้เปิดตัว “ซิมโดนใจ” เจาะตลาดเฉพาะของลูกค้าภาคอีสานไปแล้ว และล่าสุดได้จับมือกับการีนาเพื่อออกซิม “ซิม อีสปอร์ต” เพื่อเจาะกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา เพราะมองว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ ไม่มีวันหมด และอนาคตผันตัวไปเป็นวัยทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียน-นักศึกษาประมาณ 8-10 ล้านคนทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังใช้กลยุทธ์ “after sale convergent” โดยเป็นแอปพลิเคชั่นเบส เช่น ทรูไอดี ในการใช้คอนเทนต์เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคทุกค่าย แต่ให้สิทธิพิเศษเพิ่มกับลูกค้าทรูมูฟ เอช และให้สิทธิพิเศษอย่าง “ทรูพ้อยท์” ที่สามารถนำไปแลกเป็นของในเซเว่นอีเลฟเว่นหรือแลกอินเทอร์เน็ต โดยทรูมูฟ เอชจะยึดหลักนี้ทำตลาดต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้ลูกค้ารักแบรนด์มากที่สุด ส่วนโปรโมชั่นย้ายค่ายก็ต้องทำต่อไป เพราะกลุ่มโพสต์เพดก็ถือว่าเป็นลูกค้าอีกกลุ่ม

“ที่ผ่านมามีอุปสรรคในการทำตลาดเยอะ เพราะเรามาช้า ทำให้ลูกค้าซึมซับความเป็นลูกค้าของค่ายอื่น แต่ตอนนี้ได้พัฒนาทั้งเครือข่ายจนลูกค้าเชื่อมั่นมากขึ้น ก้าวเป็นเบอร์ 2 ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นมากขึ้น คือ มอบสิ่งที่ตรงกับพฤติกรรมของเขา เป็นกลยุทธ์ในการทำตลาด”

สำหรับ “ซิม อีสปอร์ต” มีราคา49 บาท โดยจะมีไอเท็มพิเศษสำหรับเกม “RoV” (Arena of Valor) ซึ่งการใช้งานซิมจะมีรูปแบบการทำเควสต์ เช่น ใช้งานครบ 7 วัน 30 วัน จะได้รับไอเท็มพิเศษ เป็นต้น