ประมูลคลื่น 900-1800 MHz บทเรียน กสทช.จัดระเบียบใหม่

หนึ่งในภารกิจสำคัญของ “กสทช.” หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ชัดเจนว่าคือการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ตลอดเวลาที่ กสทช.ชุดนี้รับตำแหน่งเมื่อ ต.ค. 2554 การประมูลคลื่นแต่ละครั้งฮือฮามาโดยตลอด นับตั้งแต่ครั้งแรก กับคลื่น 2100 MHz เมื่อปี 2555 มีผู้เข้าประมูล 3 ราย แบ่งความถี่กันไปคนละ 3 สลอตลงตัวเป๊ะ โดย “ดีแทค-ทรูมูฟ เอช” ได้สิทธิ์ในคลื่นความถี่ไปโดยไม่มีการเคาะราคาเพิ่มจากราคาเริ่มต้น มีแค่ “เอไอเอส” เคาะเพิ่มไป 2 ครั้ง

ที่ฮือฮาสุดในแง่ราคาคงเป็นการประมูลคลื่น 900 MHz ในปลายปี 2558 ที่มีรายใหม่อย่าง “แจส โมบาย” ร่วมเคาะราคาด้วยอย่างดุเดือดจนปิดประมูลไปด้วยราคาสูงปรี๊ด แต่สุดท้ายกลับทิ้งไลเซนส์ไม่เอาเงินมาจ่าย ซึ่ง “กสทช.” ทำได้แค่ริบเงินประกัน 644 ล้านบาท และเรียกค่าเสียหายอีก 199.423 ล้านบาทเท่านั้น แม้สุดท้ายแล้วจะมี “เอไอเอส” เข้ามารับช่วงคลื่นต่อ ทำให้ กสทช.ได้เงินส่งเข้ารัฐก้อนโต แต่สร้างปมปัญหาต่อเนื่อง ไม่เฉพาะแค่ในย่าน 900 MHz แต่รวมไปถึงคลื่น 1800 MHz ที่ “แจส โมบาย” เข้าร่วมประมูลด้วย แม้ไม่ใช่ผู้ชนะ แต่เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ราคาคลื่นทั้ง 2 ย่านปิดการประมูลไปด้วยราคาสูงติดอันดับ top 3 ของโลกเลยทีเดียว

ชัดเจนว่าส่งผลมาจนถึงการเปิดประมูลคลื่นครั้งล่าสุดกับคลื่นย่าน 1800 MHz ที่ต้องเปิดให้ยื่นคำขอเข้าประมูลถึง 2 รอบเพราะในรอบแรกทั้ง 3 ค่ายมือถือพร้อมใจกันเซย์โนเทกันหมด จน “กสทช.” ต้องรื้อเกณฑ์ประมูลกันยกใหญ่ ทั้งการปรับจำนวนความถี่ต่อใบอนุญาตให้มีขนาดเล็กลงตามที่เอกชนขอ และยกเลิกเกณฑ์ N-1 (จำนวนไลเซนส์ที่นำออกประมูลน้อยกว่าผู้เข้าประมูล 1 จำนวน) แม้แต่การนำคลื่น 900 MHz ออกมาประมูล ทั้งที่ก่อนหน้านี้อ้างว่ามีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนระบบขนส่งทางรางจนกระทบกับความปลอดภัยสาธารณะจนมีมติระงับการประมูล แต่สุดท้ายดึงกลับมาเปิดประมูลใหม่ เพราะ “ดีแทค” อยากได้คลื่นย่านต่ำ

แต่สุดท้ายคลื่น 900 MHz ก็ไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดเข้าประมูล ส่วน 1800 MHz เปิดประมูลไปแล้วเรียบร้อยเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา มี “เอไอเอส-ดีแทค” เข้าประมูล ต่างเคาะราคากันไปแค่บริษัทละ 1 ครั้งตามเงื่อนไขการประมูล และได้ไปเจ้าละ 1 ไลเซนส์ จากทั้งหมด 9 ไลเซนส์ ปิดประมูลไปด้วยราคา 12,511 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดตามกฎประมูลที่ออกแบบบังคับให้ผู้เข้าประมูลทุกรายต้องเคาะเพิ่ม 1 ครั้งจากราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท ไม่เช่นนั้นจะถูกริบเงินวางประกัน 2,500 ล้านบาท

อ้อนวอนให้เข้าประมูล

ไม่น่าแปลกใจที่ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการประมูลครั้งนี้ว่า “เป็นการง้องอน อ้อนวอนให้เอกชนเข้าร่วมประมูล” พร้อมย้ำว่า ถ้าไม่อยากให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ควรเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้มีโอเปอเรเตอร์รายใหม่เข้ามาในตลาด

แต่ดูแล้วทางเลือกนี้คงไม่ได้รับความสนใจ เพราะล่าสุด “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. กำลังผลักดันให้บอร์ด กสทช. พิจารณาทบทวนเกณฑ์การชำระเงินค่าประมูลคลื่นรอบใหม่ที่จะต้องจัดขึ้นสำหรับคลื่นความถี่ที่เหลือให้มีระยะเวลายาวขึ้น เพื่อจูงใจให้ค่ายมือถือเข้าร่วมประมูล และปรับราคาเริ่มต้นประมูลใหม่ของคลื่น 1800 MHz ว่าจะให้กลับไปอยู่ราคาใดจึงจะเหมาะสม ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีเสียงยืนยันมาตลอดว่า ราคาเริ่มต้นประมูลเปลี่ยนไม่ได้เพราะเคยมีมติไว้แล้วว่าคลื่นย่านเดิมต้องใช้ราคาปิดประมูลครั้งก่อนมาเป็นราคาตั้งต้นเสมอ ทั้งย้ำว่าเมื่อเคยมีมติและทำเป็นหนังสือตอบกลับไปยังโอเปอเรเตอร์ผู้ชนะประมูลครั้งก่อน (เอไอเอส-ทรูมูฟ เอช) ไปแล้ว “ก็ต้องทำตามสัญญา”

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามผลักดันให้มีการทบทวนมติปีก่อนหน้านี้ที่ได้จัดสรรคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สำหรับใช้ในระบบอาณัติสัญญาณระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อดึงคลื่นส่วนนี้กลับมารวมกับอีก 5 MHz ที่ยังไม่ได้จัดสรร มารวมกันเป็น 10 MHz แล้วเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง ซึ่งถ้าไม่มีการเปลี่ยนราคาเริ่มต้นประมูลก็จะทำให้รัฐมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ทั้ง ๆ ที่ตอนจะมีมติจัดสรรคลื่นย่านดังกล่าวให้ ร.ฟ.ท.มีหลายฝ่ายคัดค้านพร้อมให้ข้อมูลว่า ระบบอาณัติสัญญาณของขนส่งระบบรางบนคลื่น 900 MHz หรือที่เรียกกันว่า GSM-R กำลังล้าสมัย หลายประเทศวางแผนจะเลิกใช้ย่านนี้แล้ว

เช่นเดียวกันการจัดสรรคลื่น 700 MHz สำหรับประมูลทีวีดิจิทัล ณ วันที่ ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) ระบุว่า เป็นย่านคลื่นสำหรับกิจการโทรคมนาคมแล้ว ไม่ควรใช้ในกิจการบรอดแคสต์ ทำให้ ณ ปัจจุบันก็ต้องมาวางแผนรีฟาร์มมิ่งคลื่นกันอลหม่าน แต่สุดท้ายข้อเรียกร้องที่บรรดาโอเปอเรเตอร์ระบุมาตลอดว่า อยากเห็น กสทช.ทำมากที่สุด คือ “แผนการจัดสรรคลื่นระยะยาว” ที่มีกรอบเวลาและขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานในแต่ละช่วงกลับไม่มี

มีแต่เห็นความ “ไม่มั่นคงแน่นอน” ในฐานะเป็นองค์กรภาครัฐที่พร้อมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอด แล้วแต่ว่าจะมีฝั่งใดจะชักจูงกับความกระตือรือร้นที่จะประมูลเพื่อหาเงินเข้ารัฐให้เป็นผลงานได้มากที่สุด แต่ก็มักจะมีปัญหาที่เป็นผลพวงต่อเนื่องกลับมาเสมอแทน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วทั้งในฝั่งบรอดแคสต์อย่างทีวีดิจิทัล และฝั่งโทรคมนาคมกับคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz แม้จะเห็นความพยายามที่จะปรับปรุงและแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังคลายปมไม่ได้สักที

7 ปี เคาะประมูล 3 แสนล้าน

รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เฉพาะด้านโทรคมนาคมที่ “กสทช.” นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงก่อนการประมูลล่าสุดอยู่ที่ 156,779.62 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงเหลือที่ “เอไอเอส-ทรู” ต้องชำระ ณ ธ.ค. 2561 สำหรับ 1800 MHz ในการประมูลปี 2558 รวม 21,608.12 ล้านบาท

ส่วนของคลื่น 900 MHz “เอไอเอส-ทรู” เหลือที่ต้องชำระในปี 2562 อีก 8,602.80 ล้านบาท และปี 2563 อีก 128,177.44 ล้านบาท

ขณะที่การประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งล่าสุด ทั้ง “เอไอเอส-ดีแทค” ต้องชำระเงินงวดแรก 50% ภายใน 90 วัน รวมเป็นเงิน 13,386.77 ล้านบาท และจ่ายอีก 25% เป็นเงิน 6,693.38 ล้านบาทในปี 2563 และปี 2564 อีก 6,693.38 ล้านบาท

ข้อเสนอแนะท้วงติงทั้งหลายเกี่ยวกับการประมูลคลื่นครั้งที่ผ่าน ๆ มา จะเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์กับการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไปมากน้อยแค่ไหนคงต้องรอดูกันต่อไป ซึ่งก็คงต้องรอ “กสทช.” ชุดใหม่ที่ไม่รู้จะได้เห็นเมื่อไรมารับช่วงต่อ