เดอะดรีมแคสเตอร์ “เด็กติดเกม” สู่นักธุรกิจ “eSports”

มหกรรมกีฬา “เอเชียนเกมส์ 2018” ที่กำลังเปิดฉาก ณ อินโดนีเซีย เป็นครั้งแรกที่มีชิงเหรียญทองกีฬา “eSports” ช่วยหนุนให้กระแส eSports ตื่นตัวมากขึ้นและรับรู้ว่า วงการนี้ไม่ได้มีแค่เฉพาะนักกีฬา แต่ยังมีอาชีพอื่นอีกมาก “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “ธนะกฤษฏิ์ วิริยะวรารักษ์” General Manager จากบริษัท “เดอะดรีมแคสเตอร์” (The Dreamcasters) ผู้ให้บริการในธุรกิจอีสปอร์ตอย่างครบวงจร

Q : ก้าวแรกในวงการนี้

10 ปีที่แล้ว เป็นเด็กติดเกม ชอบดูการแข่งขัน ได้ฟังพากย์แข่งของต่างประเทศแล้วสนุก แต่ในไทยไม่ค่อยมี เลยร่วมกับเพื่อนจัดพากย์เกมตามเน็ตคาเฟ่สนุก ๆ บางงานพากย์ทั้งวันได้หลักร้อย จน 3 ปีที่แล้วเปิดแชนเนลบนยูทูบ มีคนจากมาเลเซียและสิงคโปร์มาเทกโอเวอร์คอยป้อนงาน พัฒนาระบบลงทุนอุปกรณ์ งานเริ่มขยาย ตอนนี้มีทีมงานสิบกว่าคน เป็นนักพากย์ streamer ดูคอนเทนต์ จัดแข่ง เป็น one stop service

Q : นักพากย์เกมในไทยมีเยอะ

ยังขาดอยู่เยอะ มีแค่หลักร้อยในอินโดนีเซียมีหลายร้อยคน ในต่างประเทศนักพากย์จะมีฐานแฟนเบส จนมั่นคง แต่ในไทยคนเล่นเกมพีซียังน้อย เพิ่งจะบูมเกมมือถือ นักพากย์ในไทยจึงต้องพากย์ได้หลายเกม จะมีรายได้สม่ำเสมอ

Q : เป็นนักพากย์ต้องทำอย่างไร

ต้องแยกว่า streamer กับนักพากย์ต่างกัน streamer คือ นักเล่นเกมที่เล่นไปคุยไป ข้อมูลไม่ต้องเป๊ะมากเน้นสนุก ซึ่งตอนนี้มีเยอะมากเพราะมีแพลตฟอร์มอย่าง twitch youtube แต่นักพากย์ต้องเตรียมตัวเยอะ ต้องมีโทนเสียง จังหวะการพูด ซึ่งนักพากย์บางคนเป็น streamer ที่ฝึกฝนขึ้นมาหรือไม่เคยเป็น streamer แต่มีความรู้เรื่องเกม

Q : รายได้จากอาชีพนี้

ปีนี้พัฒนาขึ้นมาเยอะ ต่างจาก 10 ปีก่อนที่ทำเป็นอาชีพไม่ได้ แต่ 2-3 ปีนี้สามารถทำเงินได้เพราะมีคนดูเยอะขึ้น นักพากย์มีเงินเดือนอย่างน้อย 20,000 บาท สำหรับพากย์เกมที่ถ่ายทอดสด ยังไม่รวมพากย์งานนอกที่ได้ประมาณวันละ 5,000-10,000 บาท แต่พอทุกอย่างมันกว้างขึ้น ก็ต้องเตรียมข้อมูลมาเผื่อคนที่ยังไม่เคยดูหรือปรับคำพูดให้เหมาะ

Q : อุปสรรค

ภาษายังเป็นข้อจำกัด เพราะนักพากย์ไทยถึงจะดังแค่ไหนก็อยู่แค่ในไทยแต่ในอาเซียนบางคนพากย์เป็นภาษาอังกฤษ มีแฟนคลับก้าวไปดังระดับโลกได้ ดังนั้น ในออฟฟิศก็ต้องปั้นให้พากย์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ง่าย อีกอย่างคือความต่อเนื่องในการแข่งขันที่มีน้อย ขาดคนที่จะมาลงทุนทำให้เป็นระบบ เป็นลีกขึ้นมา ส่วนใหญ่เราก็วิ่งหาสปอนเซอร์

Q : eSports ยังสร้างอาชีพอื่น

ecosystem ของ eSports มีอีกเยอะ เช่น marketing ที่จะคอยดูเรื่องการเจาะกลุ่มผู้บริโภค สำหรับแบรนด์ที่ต้องการทำมาร์เก็ตติ้งผ่านอีสปอร์ตมี tournaments specialist ที่คอยจัด แข่ง มีทีม organize tourna-ments มีทีม production คอยทำกราฟิกขึ้น score มีทีมบรอดแคสต์ทำถ่ายทอดสด ซึ่งในไทยยังขาดบุคลากรทุกด้าน พอจะจัดทัวร์ใหญ่จึงต้องร่วมกันหลายบริษัท ซึ่งในไทยมีบริษัททำอีสปอร์ตครบวงจรแค่ 6 รายก็จะคอยช่วยกันเพราะคนไม่พอ ยิ่งถ้าเทียบในอาเซียนหลายประเทศเขานำไปแล้ว อย่างมาเลเซียได้จัดการแข่งขันใหญ่มากและมีทีมนักกีฬาที่ไปในระดับโลกได้ มีอะคาเดมีฝึกสอน ของไทยเพิ่งเริ่ม อินโดนีเซียก็ไปแล้ว ที่เกาหลีใต้ก็พัฒนาผู้เล่นได้ดีที่สุดในโลก ส่งก็ไปเล่นให้กับ eSports ในยุโรป อเมริกา แต่นักกีฬาไทยก็พร้อมแล้ว

Q : ยังมองว่าเป็นอาชีพไม่มั่นคง

เมื่อก่อนมุมมองของผู้ใหญ่กับเกมนั้นแย่มาก แต่ตอนนี้ดีขึ้น มีข่าวผู้เล่นเกมประสบความสำเร็จ เห็นทางสู่อาชีพ ซึ่งช่วงพีกของนักกีฬาจะอายุไม่เกิน 30 แต่ก็ผันตัวไปเป็นผู้ฝึกสอนได้ streamer ผันตัวไปทำทอล์กโชว์ได้ ถ้าพากย์แล้วมีความรู้ด้าน tournaments specialist ก็ไปจัดแข่งได้ คือผันตัวไปทำงานเบื้องหลังได้ แต่ต้องรู้ลึกรู้จริง

Q : เริ่มมีการสนับสนุน eSports

ภาครัฐประกาศให้ eSports เป็นกีฬาแต่ยังไม่เห็นความชัดเจน หลัก ๆ มีเอกชนกับสปอนเซอร์ในวงการที่คอยผลักดัน ส่วนหลักสูตร eSports ในมหาวิทยาลัยมองว่าเรียน 4 ปีมันนานไป ควรจะมีเป็นอะคาเดมี สำหรับเทรนนักกีฬาและเปิดหลักสูตรที่เน้นการทำงานหลังบ้าน เช่น โปรดักชั่น เพราะ eSports ไม่ได้มีแค่แข่งขัน ซึ่งบ้านเราถ้าเทียบประเทศอื่นยังประเมินไม่ได้ว่าจะตามเขาทันเมื่อไร เพราะเทคโนโลยีอัพเดตตลอดเวลา

Q : ก้าวต่อไปดรีมแคสเตอร์


ทุกวันนี้เราลงทุนซื้อลิขสิทธิ์เกมมาพากย์และจัดแข่งขันแต่ละปีเป็นหลักร้อยล้านบาท มีรายได้จากการจ้างจัดแข่งขัน การพากย์และสปอนเซอร์รวมกันเป็นหลักสิบล้านบาท ซึ่งยังไม่คืนทุน แล้วเราก็มีแผนจะขยายสตูดิโอรวมทั้งทำอีสปอร์ตอารีน่า เพราะในไทยยังมีไม่เยอะและเล็กเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แม้ตอนนี้รายได้เราจะยังไม่มากเท่าเงินลงทุน แต่เชื่อว่าจะคืนทุนและทำกำไรได้ใน 2 ปีนี้ เพราะเกมเป็นเทรนด์ใหญ่ระดับโลกไปแล้ว eSports เป็นเหมือนการทำมาร์เก็ตติ้งชนิดหนึ่ง ซึ่งแบรนด์ระดับโลกต่างก็มาลงทุนในนี้หมด