EverYoung กับพนักงานสูงอายุ

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน”

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

เกาหลีกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่มีอคติต่อแรงงานผู้สูงอายุ โดยมองว่าเป็นพวก “หมดไฟ” และ “ล้าหลัง”

มีบริษัทจำนวนมากล่อหลอก (เรียกง่าย ๆ ว่า “บีบ”) ให้สมัครโครงการลาออกก่อน 60 ปี) เอะอะก็อ้างว่าจะได้พักผ่อนอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ซึ่งบรรดาคุณลุงคุณป้าก็ลมออกหู อยากจะเถียงรัว ๆ ว่า “หลานที่ไหน (วะ) ที่บ้านไม่มีหลานให้เลี้ยง (เว้ย)” เพราะผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไปมีถึง 6.78 ล้านคน แซงหน้าเด็ก (0-14 ปี) 6.77 ล้านคนแล้ว

แต่ EverYoung สตาร์ตอัพที่จะพูดถึงวันนี้กลับมองว่า แทนที่จะปล่อยให้เหี่ยวเฉาโรยราอยู่บ้าน สังคมควรหาทางต้อนรับกลับสู่ตลาดแรงงาน กระตุ้นให้คุณลุงคุณป้ากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทั้งยังลดภาระครอบครัวและส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมด้วย EverYoung เป็นบริษัทให้บริการติดตาม ตรวจสอบคอนเทนต์ต่าง ๆ บน Naver (คล้าย ๆ กูเกิล แต่เป็นเวอร์ชั่นเกาหลี) และ Naver Maps

มองเผิน ๆ ออฟฟิศของ EverYoung ก็เหมือน tech startup ทั่วไป ที่มีมุมกาแฟฮิป ๆ มีมุมนั่งเล่นเก๋ ๆ และมีพนักงานที่นั่งเรียงกันเป็นแถวหลังเครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมแววตามุ่งมั่น มีเสียงคลิกเมาส์เคาะคีย์บอร์ด

ที่ต่างคือ พนักงานไฟแรงเหล่านั้นเป็นผู้สูงอายุล้วน ๆ และแถวมุมนั่งเล่น จะเห็นตู้หนังสือ (แทนตู้เกม) โซฟานุ่ม ๆ (แทน bean bag สีสด) และเครื่องวัดความดัน (แทนโต๊ะสนุ้กเกอร์)

“ชุน อึน ซอง” ก่อตั้งบริษัทนี้ในปี 2013 เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่า ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องล้าหลัง หรือ low tech

เขาตั้งกฎตั้งแต่วันแรกว่า บริษัทจะรับพนักงานที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีพนักงาน 420 คน ที่อาวุโสสุด คือ คุณตาวัย 83 ปี ที่ยังกระฉับกระเฉง และสนุกกับงานทุกวัน

พนักงานที่นี่มีประวัติความเป็นมาหลากหลาย บางคนเคยเป็นวิศวะ บางคนเคยเป็นนักคณิตศาสตร์ บางคนก็เป็นแม่บ้าน และมีไม่น้อยที่เคยตกงานเป็นเวลานาน ๆ

โดยบริษัทจะอบรมวิธีมอนิเตอร์เนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มของ Naver นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมพัฒนาทักษะไอทีด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

พนักงานที่มีพื้นฐานไอทีแน่น ๆ ยังสามารถเป็นจิตอาสา สอนการเขียนโค้ดให้เด็กนักเรียนตามโรงเรียนด้วย

“ชุน อึน ซอง” บอกว่า ผู้สูงอายุมีความมุ่งมั่นและใส่ใจในรายละเอียด ซึ่งหาได้ยากในคนหนุ่มสาว

นอกจากนี้ยังมีความกระตือรือร้น และตื่นเต้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ แถมไม่ติดมือถือ (เพราะพร้อมใจกันเก็บไว้ในตู้ล็อกเกอร์ก่อนเริ่มงาน) ทำให้มีสมาธิ ไม่วอกแวกที่ EverYoung จะมี “มินิเบรก” คั่นทุกชั่วโมง เพื่อพักสายตา หรือลุกไปวัดความดัน จิบกาแฟ ยืดเส้นยืดขา ประมาณครั้งละ 10 นาที

พนักงานที่นี่จะทำงานเป็นกะ กะละ 4 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้หักโหมจนเกินไป

การให้โอกาสผู้สูงอายุกลับเข้าทำงานอีกครั้ง นอกจากทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีความสุขมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเติมแรงงานเข้าสู่ระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศด้วย

ไทยเราเองก็น่าจะลองทบทวนมาตรการที่มีอยู่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราก็คงหนีไม่พ้นต้องก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุด้วยเช่นกัน