“โดรนการเกษตร” คึกคัก DJI เลือกไทยประเดิมตลาดอาเซียน

แม้ว่า 70% ของประชากรโลกทำงานเกี่ยวกับการเกษตร แต่แนวโน้มแรงงานในภาคการเกษตรกำลังลดลง จุดประกายให้ “DJI” ผู้พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ “โดรน” สร้างเครื่องมือที่ “เร็วและมีประสิทธิภาพ” ทดแทน

“เจียดง ซุน” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจด้านการเกษตร DJI ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกระบุว่า ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณอาหารไม่เพิ่มตาม แต่ละปีมีประชากรกว่า 870 ล้านคนได้รับอาหารไม่เพียงพอ และภายในปี 2593 จะเพิ่มเป็น 2 พันล้านคน การเกษตรเป็นส่วนสำคัญที่จะแก้ปัญหานี้ DJI จึงเริ่มทำคอมเมอร์เชียลโดรนเพื่อการเกษตรมากขึ้น

โดยเริ่มทำตลาดแล้วในจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ส่งผลให้รายได้ 80% มาจากต่างประเทศ โดยใช้การหาพาร์ตเนอร์ที่มีความรู้ และสร้างศูนย์ฝึกอบรมการบินให้เกษตรกรและให้ความรู้คนที่สนใจ ซึ่งรวมไปถึงสตาร์ตอัพ เพื่อสร้างเซอร์วิสโพรไวเดอร์และสร้างอีโคซิสเต็มที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ปัจจุบันในจีนมีเซอร์วิสโพรไวเดอร์ 2,000 ราย มีโดรนเพื่อการเกษตร 16,000 ตัวทั่วประเทศ มีพื้นที่เกษตรใช้งานแล้ว 37.5 ล้านไร่

“ในจีนและญี่ปุ่นการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านการเกษตร ไม่ใช่เกษตรกร แต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจเทคโนโลยี ก็เข้ามาทำธุรกิจให้เช่าหรือเป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์ให้กับเกษตรกร โดรนจึงสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม”

สำหรับไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ DJI ทำตลาดนี้ เนื่องจากการเกษตรเป็น 1 ใน 3 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ คิดเป็น 10-12% ของ GDP และมีพื้นที่การเกษตรกว่า 62.5 ล้านไร่ ทั้งยังส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่แรงงานด้านการเกษตรมีเพียง 1 ใน 3 ของประชากร และส่วนใหญ่สูงอายุแล้ว มีแรงงานรุ่นใหม่เข้ามาน้อยลง

ส่วนการทำตลาดในไทยจะใช้รูปแบบเดียวกับประเทศอื่นคือ หาพาร์ตเนอร์ที่เชี่ยวชาญด้านการเกษตรสำหรับขายสินค้า และเปิดหลักสูตรโดรนเพื่อการเกษตรให้ความรู้ว่าสามารถใช้ในรูปแบบใดได้บ้าง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะรวมถึงคนรุ่นใหม่, สตาร์ตอัพ หรือคนที่ต้องการนำโดรนไปประกอบธุรกิจ

เบื้องต้น DJI ยังไม่ได้คาดหวังเรื่องรายได้ แต่ต้องการข้อมูลเพื่อไปปรับปรุงบริการเพิ่มเติม รวมถึงให้ความรู้กับตลาด ซึ่งมองว่าราคาไม่น่าเป็นปัญหา แม้จะอยู่ที่หลักแสนบาท เพราะรายได้ต่อปีของเกษตรกรไทยกับจีนไม่ได้ต่างกัน อีกทั้งยังคืนทุนได้ใน 6 เดือน

ขณะที่กฎหมายการลงทะเบียนโดรนจะช่วยให้การพัฒนานวัตกรรมกับการใช้งานไปได้ควบคู่กัน เพื่อให้มีการใช้ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

สำหรับโดรนที่จะเปิดตัวในไทยเป็นรุ่นอะกราส์ เอ็มจี-วันพี (Agras MG-1P) ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย มีเรดาร์ที่แม่นยำสูง สามารถรักษาระดับการบินเมื่อมีพื้นที่ไม่เท่ากัน หยุดได้เมื่อเจอสิ่งกีดขวาง และบินกลับเองได้ รวมทั้งมีจอแสดงผลสำหรับผู้บังคับ รับน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม ศักยภาพในการบินครอบคลุมพื้นที่ 25 ไร่/ชั่วโมง พร้อมพ่นสเปรย์รัศมี 4-6 เมตร เปิดขายปลายเดือน ก.ย.นี้ แต่ยังเปิดเผยราคาไม่ได้ เพราะคิดตามแพ็กเกจที่ต้องการ อาทิ จำนวนแบตเตอรี่ เบื้องต้นจะมีแบบสำหรับพ่นของเหลวเท่านั้น ยังไม่มีแบบพ่นของแข็ง เช่น ปุ๋ยเม็ด เป็นต้น แต่อุปกรณ์ส่วนนี้สามารถถอดเปลี่ยนได้เอง

ด้าน “จตุพงศ์ โตวรรธกวณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส.เอ.ที.ไอ. แพลตฟอร์ม จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโดรนการเกษตร กล่าวว่า ย้อนไป2 ปีก่อน โดรนยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ปี

ที่ผ่านมาเกษตรกรตื่นตัวมากขึ้น เพราะภาครัฐและบริษัทที่ทำด้านการเกษตรมีการประชาสัมพันธ์และนำไปทดลองใช้ เช่น มีการซื้อโดรนเพื่อไปทดสอบในการใช้ร่วมกับสารเคมีหรือปรับปรุงสูตรที่ใช้กับโดรนโดยเฉพาะ ปัจจุบันมีแบรนด์โดรนที่ทำตลาดในไทยประมาณ 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จีน ซึ่งคุณภาพค่อนข้างดี สามารถสู้กับแบรนด์ฝั่งยุโรปได้ แต่มีราคาถูกกว่า ปัจจุบันแบรนด์จีนหรือโดรนประกอบเองมีราคาหลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาท

โดยบริษัทจะมีบริการครบวงจรทั้งจำหน่าย, จัดศูนย์อบรมการบิน, รับซ่อม รวมทั้งจัดการลงทะเบียนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีบริการรับฉีดพ่น ซึ่งมีโดรนในระบบราว 30 เครื่อง คิดไร่ละ 80-100 บาท พื้นที่ที่ให้บริการส่วนใหญ่เป็นภาคกลาง, ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสานบางส่วน ส่วนใหญ่เป็นไร่อ้อย, มันสำปะหลัง และข้าว

สำหรับรายได้ของบริษัทมาจากการขายและงานเซอร์วิสอย่างละครึ่ง โดยต่อไปจะหาซับดีลเลอร์ในการให้บริการฉีดพ่น เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการ ซึ่งมองว่าการจะซื้อโดรนมาใช้อาจจะไม่คุ้มค่าสำหรับคนที่มีพื้นที่น้อย ดังนั้นอาจจะรวมกลุ่มกันซื้อหรือเช่าใช้เพราะโดรนช่วยให้ทำงานเร็วกว่าคนมาก ที่ผ่านมาจากการพ่นยา 100 ไร่ใช้เวลาวันเดียวเสร็จ