ฝ่ากระแสดิสรัปต์ เคล็ดลับยักษ์ CLMVT

กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMVT) มีเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็ว GDP ขยายตัวถึง 6.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่โต 3.6% เวทีสัมมนา CLMVT Forum 2018 ได้มีผู้บริหารองค์กรชั้นนำมาเผยเคล็ดลับ “ทะยานสู่อนาคตด้วยการใช้เทคโนโลยี”

“โนริอากิ โกโตะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มประเทศ CLMVT เชื่อมโยงการเงินด้วยการซื้อขายมูลค่ากว่า 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการลงทุนรวมกว่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ทำให้ภูมิภาคนี้เติบโตมาจากระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น ทั้งขนส่ง การสื่อสาร โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น เกิดการชำระเงินและทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น ภาคธนาคารและการเงินจึงต้องเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าในทุกด้านโดยใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะการร่วมกับสตาร์ตอัพและฟินเทคเพื่อให้ก้าวได้เร็วขึ้น เพราะดิจิทัลจะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงระบบการเงินพื้นฐานได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สถาบันการเงินได้ อาทิ การใช้บล็อกเชนช่วยในการโอนเงินข้ามประเทศที่ทำได้ในเวลา 23 วินาที ต่างจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 1-3 วัน

“การไปสู่สังคมไร้เงินสดของภูมิภาคนี้อาจต้องใช้เวลา แต่ใน 3-5 ปีข้างหน้าทุกคนจะเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้หมด”

“Sanjay Kapoor” กรรมการ บริษัท ซาอุดิ เทเลคอม และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอร์เทล (อินเดียและเอเชียใต้) กล่าวว่า ทั่วโลกใช้โมบายกว่า 4.92 พันล้านคน การค้าขายออนไลน์โตอย่างมาก ผู้คนต้องการความเร็วทันใจมากขึ้นในทุกสิ่ง “ความเร็ว” คือการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ ถ้าไม่อยากล้าหลังต้องใช้เทคโนโลยีมาเสริม ซึ่งจะสำเร็จได้โดย

1.nonlinear thinking “อย่าคิดเป็นเส้นตรง” ฉีกออกจากกฎเดิมเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ เช่น เทสล่าที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

2.collaboration “ร่วมมือกัน” เพราะดิจิทัลไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยการทำทุกสิ่งเอง ต้องร่วมมือกัน และจำเป็นต้องเป็นมิตรกับคู่แข่ง ไม่เช่นนั้นอาจพลาดโอกาสใหม่ ๆ เพราะการทำงานร่วมกันก่อให้เกิดนวัตกรรมหรือสินทรัพย์ใหม่ ๆ ได้

3.global approach “คิดในระดับโลก” เพราะธุรกิจเดิม ๆ กำลังถูกดิสรัปต์ เดิมแมคโดนัลด์ใช้เวลา 19 ปีขยายไปประเทศอื่น แต่อูเบอร์บุก 6 ประเทศในเวลาไม่ถึง 4 ปี ด้วยตัวช่วยอย่างดิจิทัล แต่ยิ่งสเกลก็ยิ่งมีความซับซ้อน ดังนั้น การจะบุกไปตลาดใหม่ต้องมั่นใจว่ามีงานมีคนที่เหมาะสม ที่สำคัญคือ “ข้อมูลและการวิเคราะห์” ซึ่ง 80% ของบริษัททั่วโลกยังไม่มีการวางโครงสร้างการเก็บข้อมูลที่ดี จึงต้องเร่งนำ AI มาช่วย

“ไม่มีอะไรสายเกินไป ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม เราอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์วันนี้ แต่ก็ต้องทำ จัดอันดับความสำคัญ ทำทีละอย่าง อย่าทำหลายอย่าง ต้องมีโฟกัสที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงได้”

ด้าน “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกกำลังเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันในภูมิภาคและเร่งให้เร็วขึ้น อาทิ โครงการวันเบลต์ วันโรด One Belt One Road (OBOR) แพลตฟอร์มเกตเวย์อาเซียนที่จะเชื่อมโยงอาเซียนและจะเข้าถึงคนกว่าครึ่งโลก

ที่ผ่านมาไทยเบฟเวอเรจ สร้างโครงการ C asean ด้วยเงินทุนกว่า 500 ล้านบาท เชื่อมต่อผู้คนในอาเซียนด้วยวิสัยทัศน์ Collaboration for the Better of ASEAN’s Connectivity เพื่อสร้างความร่วมมือแทนที่จะแข่งขันกันเอง ตั้งใจให้เป็นแพลตฟอร์มในการแบ่งปันความรู้ ทั้งด้านวัฒนธรรม ศิลปะต่าง ๆ ทั้งยังมีโครงการสตาร์ตอัพที่จะเชื่อมต่อคนรุ่นใหม่ ๆ ในประเทศต่าง ๆ รวมถึง

“โครงการประชารัฐ” ที่จะเป็นการเชื่อมโยงความร่วมมือทั้งในรัฐ เอกชน และภาคการศึกษา เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนมากขึ้นด้วยการส่งเสริมธุรกิจในชุมชน แต่ความท้าทายสำคัญคือ การสร้างความยั่งยืน