เส้นทาง “โอมิเซะ” กิ้งก่าคามีเลียนวงการสตาร์ตอัพ

ในวงการสตาร์ตอัพไทย หากถามว่า ใครมีโอกาสจะเป็น”ยูนิคอร์น” คือมูลค่าบริษัทเกินพันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรายแรก ต้องมีชื่อของ “โอมิเซะ” Omise ทุกครั้ง

ทั้งด้วยยอดระดมทุนที่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว และการเติบโตทะลุ 1,000% แม้คนทั่วไปอาจไม่คุ้นชื่อ แต่ถ้าเคยสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ต้องเคยใช้บริการ เพราะระบบชำระเงินออนไลน์ของ 2 ค่ายมือถือ และอีกกว่า 400 ร้านค้าดังใช้เพย์เมนต์เกตเวย์ของโอมิเซะทั้งนั้น ทั้งในไทย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ที่สำคัญเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ ICO (Initial CoinOffering : ขายเหรียญดิจิทัลระดมทุน) ด้วย “OmiseGO” ซึ่งไม่ได้แค่ขายระดมทุน แต่ล้ำหน้ากว่านั้น

บนเวทีสัมมนา “พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต THE REINVENTION” “ดอน-อิศราดร หะริณสุต” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โอมิเซะ จำกัด เปิดเผยเส้นทางสู่ความสำเร็จ ว่า 6 ปีก่อนเป็นยุคที่อีคอมเมิร์ซกำลังเริ่มบูม 2 ผู้ก่อตั้งอย่าง “ดอน และจุน ฮาเซกาวา” ตั้งใจจะทำอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม จึงก่อตั้ง “โอมิเซะ” ที่แปลว่า “ร้านค้า” แต่เมื่อพัฒนาระบบไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า ปัจจัยสำคัญสุดของอีคอมเมิร์ซ คือ ระบบจ่ายเงินที่ดี ซึ่งยุคนั้นผู้บริโภคต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการจ่ายเงิน และทำให้ลูกค้าตัดสินใจยกเลิกมากที่สุด ดังนั้น ระบบชำระเงินที่ดีจึงเป็นที่ต้องการของทั้งวงการอีคอมเมิร์ซ

“ถ้าทำให้ระบบจ่ายเงินใช้ง่ายเท่าไร ยิ่งกระตุ้นทำให้คน “วู่วาม” ในการจ่ายเงินซื้อของได้มากขึ้นเท่านั้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกกลับมาสู่การพัฒนาเพย์เมนต์เกตเวย์ ไม่ทำแล้วอีมาร์เก็ตเพลซ”

ยากแต่กล้าจะทำ

โดยเริ่มพัฒนาปลายปี 2557 และเปิดบริการปี 2558 กับกลุ่ม SMEs ก่อนขยับสู่เอ็นเตอร์ไพรส์ในปี 2559 จนตอนนี้กว่า 90% เป็นเอ็นเตอร์ไพรส์ แม้ว่าเพย์เมนต์เกตเวย์เป็นเรื่องยาก เป็นธุรกิจที่ต้องใช้ความรู้เยอะ ต้องมีระบบซีเคียวริตี้ที่ได้มาตรฐาน VISA และ Master Card ขณะที่โอมิเซะเป็นเพียงสตาร์ตอัพมีทีมแค่ 2 คน ใช้ร้านกาแฟเป็นออฟฟิศ แต่ก็กล้าที่จะลงมือทำและวางเป้าหมายของการพัฒนาระบบไว้ที่ “โกลบอลสแตนดาร์ด” เพราะต้องการกระโดดขึ้นเป็นทางเลือกที่บริษัทใหญ่ ๆ ไว้ใจได้

“ต้องอาศัยความหน้าด้านเข้าไปคุยกับคนที่มีความรู้ด้านนี้มาก ๆ เพื่อให้เข้าใจระบบ เพราะผมก็ไม่ได้จบเอ็นจิเนียร์ แต่ถ้าจะทำให้สำเร็จก็ต้องเข้าใจทั้งหมด”

โดยสิ่งที่ทำให้โดดเด่นคือ สร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับลูกค้า อย่างปัจจุบันการสั่งพิซซ่าแบรนด์ที่ใช้โอมิเซะ สั่งได้แค่ 3 คลิก และยอดปิดการขายสำเร็จเพิ่มจาก 50% เป็น 90%

เป็นยูนิคอร์นไม่สำคัญ

แม้ว่าจะถูกถามเสมอว่า จะเป็นยูนิคอร์นรายแรกของสตาร์ตอัพไทยใช่ไหม แต่ “ดอน” ย้ำว่า “การได้เป็นยูนิคอร์นหรือไม่ ตัวเลขมูลค่าบริษัทจะเท่าไรไม่ได้สำคัญเท่ากับว่า บริการของโอมิเซะ แก้ pain point ให้ผู้คนได้จริงหรือไม่”

และยังไม่หยุดพัฒนา ด้วย vision ที่ต้องการเป็น “early adopters” ของเทคโนโลยีใหม่ ๆ แม้จะยาก แต่ถ้าทำได้จะช่วยแก้ปัญหาของคนได้เยอะ และการวางตัวเองให้เป็น “โกลบอลสแตนดาร์ด” เสมอ คือคีย์พอยต์ที่ทำให้เติบโตก้าวกระโดดได้ แม้จะเป็นแค่สตาร์ตอัพเล็ก ๆ ไม่ใช่แบงก์

จากจุดเริ่มต้น 2 คนที่ร้านกาแฟ ตอนนี้มีทีมงาน 180 คน ด้วยองค์กรที่ขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงเป็นองค์กรที่ไม่มีไขมัน เคารพไอเดียซึ่งกันและกัน ทุกคนแชร์และครีเอตสิ่งใหม่ ๆ ได้ “มี small talk กับทุกแผนกทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการบริหาร”

ทำตัวเป็นกิ้งก่าคามีเลียน

สิ่งที่ยากที่สุดคือ “การสเกลอัพธุรกิจ” เมื่อสตาร์ตอัพคือความใฝ่ฝันของ 2 ผู้ก่อตั้งที่ได้นั่งคิดไตร่ตรองและลองลงมือทำอยู่ตลอด เมื่อทั้งคู่ไม่ได้จบ business school ระดับโลก จึงเลือกบริหารงานแบบมวยวัด คือลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ จนค่อย ๆ เรียนรู้จากการเจ็บตัว และทำให้รู้ว่า ต่อไปจะรับมืออะไรอย่างไร

“กลยุทธ์ที่วางไว้อาจไม่ใช่อย่างที่คิด ฉะนั้น โอมิเซะจะต้องเป็นกิ้งก่าคามีเลียนที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมเสมอ เป็นสัตว์ที่ดูเหมือนจะเชื่องช้า แต่เมื่อแมลงบินผ่านก็พร้อมตวัดกินทันที”

ขณะที่หลายคนมองว่า สตาร์ตอัพจะเข้ามาดิสรัปต์แบงก์ แต่เป้าหมายจริง ๆ ของโอมิเซะคือการทำให้ทุกเพลเยอร์ที่มีอยู่สามารถให้บริการที่ดีขึ้นได้ ฉะนั้น จึงพัฒนาทุกอย่างเป็น API ให้ทุกคนเข้ามาปลั๊กอินได้ง่าย

OmiseGO เชื่อมการแลกเปลี่ยน

“สเต็ปต่อไปที่วางไว้คือการเข้าเป็นผู้ช่วยแบงก์ เพราะเราต้องการเป็นผู้สร้างถนนให้รถมาวิ่ง ไม่ได้ต้องการเป็นรถเอง แต่เป็นถนนในการแลกเปลี่ยนที่จะเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน”

นี่จึงเป็นที่มาของ “OmiseGO” ต่อยอดจากเพย์เมนต์ที่เป็นธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นผลจากการเริ่มเปิดบล็อกเชนแล็บตั้งแต่ปี 2558 ในยุคที่ยังไม่มีคนเข้าใจคำว่าบล็อกเชน แต่โอมิเซะได้เริ่มเรียนรู้ว่าจะนำมาใช้อะไรได้บ้าง จนเกิดเป็น Omis-eGO เปิด ICO มิ.ย. 2560 ซึ่งมูลค่า ณ ตอนนี้เติบโตขึ้นเป็นพันเท่าแล้ว

โดยมุ่งหวังให้ OmiseGO เป็นเน็ตเวิร์กกลางในการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิทัลที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เฉพาะคริปโทเคอร์เรนซี เพื่อแก้ปัญหาใหญ่คือการทำให้ร้านค้าทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ รับชำระเงินได้หลากหลายมากขึ้นด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับสังคมไร้เงินสด ซึ่งจะก่อให้เกิดดาต้าตามขึ้นมามากมาย และสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ต่อเนื่องได้อีก

“ทุกวันนี้เมื่อเดินไปในร้านค้าต่าง ๆ ก็เห็นป้าย VISA Master Card ความฝันของเราคือ อยากจะเห็นป้ายของ OmiseGO รองรับการแลกเปลี่ยนดิจิทัลแอ็กเซสอะไรก็ได้ ต่อไปอาจจะได้เห็นเด็ก ๆ ที่นำไอเท็มเกมที่มีอยู่แลกเป็นซื้อสิ่งของอื่นได้หมด”


“ดอน” ได้ย้ำทิ้งท้ายกับองค์กรธุรกิจว่า “อินโนเวชั่น” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องติดตามและเรียนรู้ แม้ว่าจะยากที่จะเข้าใจ แต่ก็ต้องปรับตัวเรียนรู้ โดยเฉพาะการนำออโตเมชั่นเข้ามาทดแทนในส่วนที่ต้องทำซ้ำ ๆ เดิม ๆ เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการโฟกัสในสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าของธุรกิจได้มากขึ้น และเป็นหนทางให้บริษัทเติบโตได้อีกมาก