โมไบค์จับมือท้องถิ่นลุยเพิ่มพื้นที่บริการ

ยังไปได้สวย - แม้แบรนด์อื่นจะประกาศปิดตัวธุรกิจ bike sharing แต่โมไบค์ยังเดินหน้าขยายพื้นที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจับมือกับ AIS เปิดให้บริการในพื้นที่400 ไร่ของกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี

โมไบค์ยังลุยขยายธุรกิจ bike sharing ลุยจับมือองค์กรท้องถิ่น-ราชการ เปิดให้บริการในพื้นที่ปิดลดความเสี่ยงจากสภาพจราจรถนนเมืองใหญ่ พร้อมมุ่งพัฒนาระบบเติมเงิน ดึงดูดลูกค้า เล็ง “ลำปาง” เป็นพื้นที่ต่อไป

นายเสริมพล วัฒนวรกิจกุล director of operations บริษัท โมไบค์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ให้บริการจักรยานอัจฉริยะสาธารณะ (bike sharing) ภายใต้แบรนด์ “Mobike” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ในหลายประเทศจะเห็นภาวะฟองสบู่ของธุรกิจ bike sharing และการปิดตัวลงของผู้ให้บริการหลายราย แต่ในประเทศไทย หลังจากโมไบค์เปิดให้บริการจะครบปีแล้ว มีแนวโน้มผลตอบรับที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะพ้นช่วงใช้บริการฟรีแล้ว

โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจักรยานในระบบเกือบ 2,000 คัน เชียงใหม่มีจักรยานในระบบกว่า 4,000 คัน และกำลังจะเปิดให้บริการที่จังหวัดลำปาง

“ตอนเปิดตัวใหม่ ๆ ให้ใช้ฟรี เป็นธรรมดาที่คนต้องใช้งานเยอะ พอเริ่มเก็บค่าบริการก็ลดลงบ้าง แต่เมื่อพัฒนาระบบให้จ่ายเงินได้ผ่าน LINE Pay ลูกค้าก็กลับมาใช้บริการเยอะขึ้น จำนวน

ทริปต่อวันถือว่า OK แต่บริษัทแม่ ไม่อนุญาตให้เปิดเผยตัวเลข แต่ก็คาดหวังว่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะช่วงนี้เป็นฤดูฝน อาจจะมีอุปสรรคกับจักรยานบ้าง”

ขณะที่อุปสรรคสำคัญในการขยายโครงการคือ สภาพการจราจรของ “เมือง” ในไทย ไม่ค่อยเอื้ออำนวยกับการขี่จักรยานอย่างปลอดภัย โมไบค์จึงมุ่งเปิดให้บริการในพื้นที่ปิด โดยจับมือกับเจ้าของพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ เช่น หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับความนิยมมาก อย่างที่เปิดตัวไปแล้วที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหลาย สถาบันการศึกษาในเชียงใหม่ รวมถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ก็เป็นเป้าหมาย ล่าสุดได้เปิดให้บริการในพื้นที่ 400 ไร่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหลายหน่วยงานราชการตั้งอยู่รวมกัน ก็จะตอบโจทย์พันธกิจของบริษัท ที่ต้องการช่วย มีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมือง ในการเดินทางระยะสั้นในเมืองที่สะดวกขึ้น ประหยัด ลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งทุกโครงการที่โมไบค์เข้าไปเปิดให้บริการก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาเมือง แต่จะพยายามพัฒนาให้มากขึ้นอีก ทั้งในเรื่องระบบการชำระเงิน การเติมเงิน การเพิ่มจุดจอด

“เชื่อว่าในไทยยังมีโอกาสสำหรับธุรกิจ bike sharing และบริษัทมีระบบบริหารจัดการเพื่อให้จำนวนจักรยานสมดุลกับความต้องการของผู้ใช้งานในแต่ละจุด ซึ่งผ่านการเรียนรู้จากหลายประเทศที่โมไบค์เข้าไปเปิดให้บริการแล้ว ทั้งยังนำเทคโนโลยี IOT เข้ามาช่วยบริหารจัดการด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหา over supply และเน้นการขยายโครงการด้วยการจับมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้จักรยานถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”

ส่วนแผนการลงทุนและคืนธุรกิจของบริษัท ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เนื่องจากเป็นข้อกำหนดจากบริษัทแม่ที่ประเทศจีน โดยโมไบค์เปิดให้บริการครั้งแรก ณ นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อ เม.ย. 2559 และขยายการให้บริการแล้วใน 160 เมืองทั่วโลก โดยจักรยานของโมไบค์ จะเชื่อมต่อผ่าน IOT มีระบบ GPS ล็อกอัจฉริยะในตัว ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถหาโมไบค์ที่อยู่ใกล้ได้จากแอปพลิเคชั่น ปัจจุบันมีรถจักรยานในระบบกว่า 7 ล้านคันทั่วโลก และมีผู้ใช้งานมากกว่า 25 ล้านครั้งต่อวัน