เปิดศึกชิงลูกค้าย้ายค่าย ลูกค้ามึนตึ้บโดนยื้อ-ยอดวูบ 43%

ในทุกครั้งที่จะมีสัมปทานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สิ้นสุด ก็จะได้เห็นการ “ช่วงชิง” ของบรรดาค่ายมือถือเพื่อดึงลูกค้าที่ยังค้างในระบบสัมปทาน รวมถึงลูกค้าอื่น ๆ ให้ย้ายมาสู่ค่ายของตนเองด้วยโปรโมชั่นที่เข้มข้นกว่าปกติ

ช่วงเวลานี้ก็เช่นกัน เมื่อ 15 ก.ย. 2561 สัมปทานระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จะสิ้นสุดลง จึงได้เห็นปรากฏการณ์ตามเว็บบอร์ดสาธารณะอย่างพันทิปดอทคอม ที่จะมีคอลเซ็นเตอร์ของแต่ละค่ายคอยเข้าไปชักจูงให้ลูกค้าของค่ายมือถืออื่นที่ประสบปัญหาในการใช้บริการย้ายเข้ามาใช้บริการของตนเอง

AIS จัดโปร No Limit

ล่าสุด “AIS” ออกโปรย้ายค่ายออนไลน์แบบรายเดือน “AIS PRO NO LIMIT” ให้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่อั้นแบบจำกัดความเร็ว และโทร.ฟรีในเครือข่าย เริ่มต้น 499 บาท/เดือน ใช้เน็ตไม่อั้นด้วยความเร็วสูงสุด 1 Mbps 699 บาท/เดือน เน็ต 6 Mbps 899 บาท/เดือนเน็ตไม่อั้น 6 Mbps พร้อมโทรฟรีนอกเครือข่าย 300 นาที ไปจนถึง 1,999 บาท/เดือน เน็ตไม่อั้นไม่จำกัดความเร็วแถมโทร.ฟรีไม่อั้นทุกเครือข่าย ทุกแพ็กเกจรับสิทธิ์ 12 รอบบิล เป็นทางเลือกเพิ่มจากแพ็กเกจก่อนหน้านี้ ซึ่งให้ส่วนลด 50% 12 รอบบิล

ทรูใช้แอปบันเทิง-ROV ฟรี 1 ปี

ขณะที่ทรูจัดโปรโมชั่นย้ายค่าย “โปรซุปเปอร์คุ้ม 549” เหมาจ่ายเดือนละ 549 บาท โทร.ฟรี 600 นาที ใช้ 4G/3G รวมกันได้ 40 GB/เดือน ใช้เน็ตไม่หมดทบได้ไม่เกิน 80 GB และฟรี WiFi ไม่จำกัด พร้อมสิทธิชมแพ็กเกจ trueIDUnlimited HD 12 เดือน และแอปพลิเคชั่น trueID ใช้ไม่จำกัด 12 เดือน หรือเป็นแพ็กเกจ 4G+ ซูเปอร์สมาร์ท ย้ายค่ายออนไลน์ รับส่วนลดรายเดือน 50% นาน 12 เดือน เริ่มต้นที่ 300 บาท/เดือน (ปกติ 599 บาท) โทร.ฟรี 300 นาที อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสุด 5 GB WiFi ไม่อั้น หรือแพ็กเกจ 4G+ ฟัน อันลิมิเต็ด รับส่วนลดรายเดือน 25% 12 รอบบิล เล่นเกม RoV โดยไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต รวมถึงใช้งานแอปพลิเคชั่นด้านบันเทิง อาทิ LINE TV Youtube Facebook Live และแพ็กเกจ trueID Premium HD ได้ฟรี 1 ปี เริ่มต้นที่ 675 บาทต่อเดือน (ปกติ 899 บาท)

ดีแทค ลด 50% 12 เดือน

ฟาก “ดีแทค” ที่ยังเดินหน้าให้บริการโดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) จัดส่วนลดเฉพาะย้ายค่ายออนไลน์ แพ็กเกจ Super Non Stop ลด 50% นาน 12 รอบบิล แถมใช้งาน internet 3G/4G ได้แบบต่อเนื่อง ใช้ไม่หมดทบไปเดือนถัดไปได้ และฟรี dtac WiFi เริ่มต้นที่ “Smart Net 499” จ่ายเดือนละ 249 บาท อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสุด10 GB แต่ที่ลดราคาสูงสุดคือ “Smart Net 1499” จ่ายเดือนละ 549 บาท อินเทอร์เน็ต 60 GB และ “Smart Net 1299” จ่ายเดือนละ 519 บาท อินเทอร์เน็ต 50 GB

MNP สำเร็จ ลดลง 43%

ด้านรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile number portability : MNP) หรือ “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำไตรมาส 1 ปี 2561 พบว่ามีผู้บริโภคขอใช้สิทธิ์ 435,920 เลขหมาย ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน และลดลง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งพบว่า มี 77.77% ที่ย้ายค่ายได้สำเร็จ ลดลงจากไตรมาสก่อน 1.32% ทำให้อัตราการย้ายค่ายสำเร็จลดลง5 ไตรมาสติดกันแล้ว โดยในไตรมาส 1 ปี 2560 อัตรา MNP สำเร็จอยู่ที่ 87.81%

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกค้าไม่สามารถย้ายค่ายได้สำเร็จคือ 76% มียอดค้างชำระกับผู้ให้บริการรายเดิม 17% รหัสการโอนย้าย (PIN) ยืนยันตัวตนผิดพลาด (ผู้ใช้บริการกดจากระบบ *151* พร้อมเลขบัตรประชาชน 13 หลัก# แล้วกดโทร.ออก) 4% เลขบัตรประชาชนไม่ตรงกับฐานข้อมูลเดิม และ 3% ถูกระงับการใช้งาน โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนนี้ พบว่าสาเหตุจากการมียอดค้างชำระเพิ่มขึ้น 7%

ส่วนการย้ายไม่ได้เพราะ PIN ไม่ถูกต้องนั้น ลดลงจากไตรมาสก่อน 6% ซึ่งในกรณีนี้พบว่า 35% มาจาก PIN ที่ใช้หมดอายุ ซึ่งอาจเกิดจากผู้ขอย้ายค่ายไม่ได้ยื่นเรื่องภายในวันที่ได้รับ Pin อีก 30% มาจากรหัส PIN ผิดพลาด ซึ่งอาจเกิดจากผู้ให้บริการที่ผู้บริโภคต้องการย้ายไปใช้บริการนั้น บันทึกข้อมูลไม่ถูกต้อง

มุขใหม่ยื้อย้ายค่าย

ด้าน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาการ MNP ไม่สำเร็จ ยังมีสาเหตุจากการค้างชำระค่าบริการ มากที่สุด แต่มีหลายกรณีที่ไม่น่าเกิดขึ้น อาทิ เป็นลูกค้าพรีเพด(เติมเงิน) แต่ถูกอ้างว่า มียอดค้างชำระค่าบริการ ทั้งที่ปกติต้องได้เงินคงเหลือในระบบคืน ในกรณีนี้ เมื่อร้องเรียนเข้ามา กสทช.จะสั่งให้ผู้ให้บริการรายเดิมเป็นผู้พิสูจน์ว่า มียอดค้างจริงหรือไม่ หากพิสูจน์ไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้ลูกค้าย้ายออกได้

“ส่วนใหญ่ที่เจอคือระบุว่า ค้างเพราะได้โปรโมชั่นพิเศษ ซึ่งถ้าลูกค้ายืนยันไม่ได้สมัคร ค่ายมือถือก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ แต่เท่าที่เจอกรณีแบบนี้ แนะนำผู้บริโภคว่า ถ้าต้องการย้ายจริง ๆ ให้ไปติดต่อที่ค่ายใหม่เลย เพื่อยื่นขอ MNP เพราะจะถือว่าลูกค้าเข้าสู่กระบวนการ MNP แล้ว หากค่ายเดิมปฏิเสธไม่ให้ย้ายออกจะสามารถร้องเรียนได้ ถ้าไปเริ่มที่ค่ายต้นทางจะถูกยื้อไว้และกลายเป็นว่า กระบวนการ MNP ยังไม่ได้เริ่ม”

ขณะที่ปัญหาโอนย้ายไม่สำเร็จจากรหัส PIN นั้น กสทช.ประวิทย์กล่าวว่า ยังเป็นกรณีที่พิสูจน์ไม่ได้ว่า เกิดจากอะไรแน่ เพราะทุกครั้งผู้ให้บริการจะยืนยันว่า รหัส PIN เป็นการประมวลผลจากระบบคอมพิวเตอร์ไม่มีทางผิดพลาด น่าจะเกิดจากกรอกข้อมูลผิดมากกว่า

“ที่น่าแปลกคือปัญหาเหล่านี้ ถ้าผู้บริโภคมาร้องเรียน ก็จะย้ายค่ายได้ทันที ไม่เช่นนั้นก็จะถูกยื้อไว้เรื่อย ๆ”

ด้านแหล่งข่าวภายใน “ทรูมูฟ เอช” และ “ดีแทค” ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ตรงกันว่า กรณีลูกค้าพรีเพดย้ายค่ายไม่ได้เพราะมียอดค้างชำระ ไม่น่าเกิดขึ้นได้ อาจต้องตรวจสอบเป็นกรณี ๆ

ขณะที่บรรดาผู้บริโภคที่ร้องเรียนผ่านเว็บบอร์ดพันทิปเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ได้รับการชี้แจงจากฝ่ายบริการลูกค้าในพันทิปว่า เกิดปัญหาเนื่องจากลูกค้าได้รับสิทธิพิเศษจากบางโปรโมชั่น ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยสมัครใช้งานมาก่อน

DTN ย้ายสำเร็จสูงสุด

ในบรรดาค่ายมือถือพบว่า บริษัทดีแทค ไตรเน็ต (DTN) มีอัตราความสำเร็จในการโอนย้ายสูงสุดที่ 85.58% บริษัท เรียลมูฟ จำกัด (ให้บริการtruemove H บนโครงข่าย 850 MHz ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม) มีอัตรา 75.37% บมจ.ทีโอที (TOT3G) มีอัตรา 70.69% บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) 64.85% และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (true move H) มีอัตราย้ายสำเร็จ 60.94%