ดีแทคแจง 1 ล้านเบอร์เสี่ยง”ซิมดับ-สัญญาณห่วย”หลังหมดสัมปทาน จึงต้องฟ้อง “กสทช.” ขอศาลคุ้มครอง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(ดีแทค) ได้ชี้แจงกรณีที่ดีแทคยื่นฟ้องเพิกถอนมติ กสทช. และขอคุ้มครองลูกค้าชั่วคราวต่อศาลปกครอง เพื่อขอเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าให้สามารถใช้บริการได้ต่อเนื่อง ภายหลังสัมปทานระหว่าง ดีแทคกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม(แคท) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ภายใต้แบรนด์ “ดีแทค” ที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น มีการใช้คลื่นความถี่อยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.คลื่น 850 MHz และ 1800 MHz  ภายใต้สัมปทานกับแคท  2. คลื่น 2100 MHz ที่บริษัทดีแทค ไตรเน็ต บริษัทในเครือได้ประมูลคลื่นและรับใบอนุญาตจาก กสทช.  3. คลื่น 2300 MHz ที่เป็นพันธมิตรร่วมกับบมจ.ทีโอที

ดังนั้นแม้ว่าลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ภายใต้สัมปทานจะมีอยู่ราว 346,000 เลขหมาย แต่จะมีลูกค้าในระบบใบอนุญาตใช้งานคลื่น 850 MHz ด้วยการโรมมิ่งจำนวนมาก ฉะนั้น หาก กสทช. ไม่ได้ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทาน ด้วยการเปิดให้บริการต่อเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้งานต่อเนื่อง เหมือนที่อีก 2 ค่ายมือถือได้ใช้สิทธิ์ไปก่อนนี้เป็นเวลา 9 – 26 เดือน

“จะทำให้มีลูกค้าราว 1 ล้านเลขหมายที่ได้รับผลกระทบจากการปิดระบบบนคลื่น 850 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน  เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาการใช้งานบนคลื่น 850 MHzเป็นหลัก”

ดีแทคจึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หลังจาก กสทช. ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีมติให้ ดีแทค ได้สิทธิ์ในการเยียวยาผู้บริโภคเพื่อให้ใช้งานได้ต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัมปทานหรือไม่

ขณะเดียวกันได้เร่งขยายโครงข่ายบนคลื่นที่มีอยู่เพื่อชดเชยพื้นที่การให้บริการที่อาจจะได้รับผลกระทบหากต้องปิดระบบคลื่น 850 MHz และเตรียมทีมพนักงานเพื่อสื่อสารกับลูกค้าเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว