อลหม่านสัมปทานดีแทค ล้านเบอร์ต้องพึ่ง 850MHz

ลูกค้า “ดีแทค” ล้านเลขหมายเสี่ยงซิมดับ-สัญญาณห่วย หลังหมดสัมปทาน 15 ก.ย. นี้ วิ่งโร่ฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครองลูกค้า การันตีรายได้เข้ารัฐไม่ต่ำ 100 ล้านบาท/เดือน เผยถ้าชวดเยียวยาก็คงไม่ต้องประมูลคลื่นจาก กสทช.อีก เพราะลูกค้าหนีหมดแล้ว

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ภายใต้แบรนด์”ดีแทค” ใช้คลื่น 3 กลุ่ม ให้บริการ ได้แก่ 1.คลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ภายใต้สัมปทาน 2.คลื่น 2100 MHz ที่บริษัทดีแทค ไตรเน็ต บริษัทในเครือได้ประมูลคลื่นและรับใบอนุญาตจาก กสทช. 3.คลื่น 2300 MHz ที่เป็นพันธมิตรร่วมกับ บมจ.ทีโอที ดังนั้นแม้ว่าลูกค้าสัมปทานจะมีราว 346,000 เลขหมาย และมี 90,000 เลขหมายที่ใช้เฉพาะ 850 MHz แต่ยังมีลูกค้าในระบบใบอนุญาตอีกมากที่โรมมิ่งบน 850 MHz ฉะนั้น หาก กสทช.ไม่ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทาน ด้วยการเปิดให้ใช้คลื่น 850 MHz ต่อเป็นการชั่วคราว จะทำให้มีลูกค้าราว 1 ล้านเลขหมายที่ได้รับผลกระทบด้านคุณภาพบริการ เพราะยังต้องพึ่งคลื่น 850 MHz เป็นหลัก

“กสทช.ยังไม่มีความชัดเจน จึงตัดสินใจยื่นขอรับความคุ้มครองจากศาลปกครองกลาง เพราะถ้าไม่ได้รับคุ้มครอง บางพื้นที่ก็จะซิมดับ บางพื้นที่คุณภาพด้อยลง ก็จะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้จากเราไป ซึ่งหากลูกค้าหนีหายไปจำนวนมากแล้ว ก็ยากจะดึงกลับมา ฉะนั้นต่อให้ กสทช.จัดประมูลคลื่นรอบใหม่ ก็จะเกิดคำถามว่า แล้วจะซื้อคลื่นกลับมาทำไม เมื่อลูกค้าหายไปหมดแล้ว”

ขณะที่การประมูลคลื่น 900 MHz ที่ กสทช.จัดขึ้นก่อนหน้านี้ มีเงื่อนไขการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวนที่เป็นภาระเกินกว่าที่จะรับได้ รวมถึงดีแทคจำเป็นต้องใช้เวลาติดตั้งอุปกรณ์ใหม่กว่า 2 ปี ดังนั้นต่อให้ประมูลคลื่นได้ก็ยังใช้งานไม่ได้ทันที จึงไม่เข้าประมูล

“ดีแทคสนใจอย่างยิ่งที่จะประมูลคลื่น 900 MHz หากไม่มีเงื่อนไขเรื่องฟิลเตอร์กันคลื่นรบกวน และขอเวลาในการติดตั้งอุปกรณ์บนโครงข่ายเดิม โดยให้เปิดระบบ 850 MHz ให้ใช้งานคู่ไปด้วย และพร้อมจ่ายเงินรายได้ที่เกิดขึ้นให้รัฐ ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท/เดือน”

ด้านนายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวเสริมว่า ได้เตรียมรับความเสี่ยงนี้ ด้วยการเพิ่มเสาสัญญาณไปแล้ว 4,000 ต้น และปีนี้อีก 4,000 ต้น แต่ก็ยังมีผลกระทบอยู่ ทั้งยังพยายามเจรจากับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เพื่อขอโรมมิ่งบนคลื่น 850 MHz แต่ไม่มีความคืบหน้าทางเทคนิค

“ที่ขอคือ ให้ใช้คลื่น 850 MHz จนกว่าจะมีผู้ชนะประมูล 900 MHz และหากดีแทคชนะประมูลก็ขอให้เปิดระบบ 850 MHz คู่ไปด้วยระหว่างติดตั้งอุปกรณ์ โดยพร้อมจ่ายเงินค่าใช้จ่ายและอายุไลเซนส์คลื่นที่ประมูลใหม่ก็เดินไปตามปกติ ไม่ได้จะเอาเปรียบรายอื่น”

โดยระหว่างนี้ได้เพิ่มพนักงานคอลเซ็นเตอร์อีก 50% และตามศูนย์บริการอีก 30% เพื่อติดต่อและให้ข้อมูลกับลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบ รวมถึงกำลังสร้างระบบ IVR เพื่อให้ลูกค้าตรวจสอบได้ว่าตนเองได้รับผลกระทบหรือไม่