ภารกิจ 1 ปี “ดีป้า” เรื่องร้อน ๆ กับการส่งเสริมดิจิทัล

สัมภาษณ์

แปลงร่างจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(ซิป้า) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 กลายเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เมื่อต้นปี 2560 “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการคนแรกของดีป้า ในเรื่องร้อนๆ ว่าจะซ้ำรอยกับซิป้ายุคก่อนหรือไม่ ทั้งปัญหาภายในองค์กรที่เปลี่ยน ผอ.กันเป็นว่าเล่น ข้อครหาว่าใช้งบประมาณเยอะกับสารพัดอีเวนต์

Q : ปัญหาภายในยุคซิป้า

คิดว่าไม่มีแล้ว อาจจะมีแค่ความแตกต่างของวัฒนธรรมของคนที่เข้ามาใหม่กับพนักงานเดิม เพราะรับคนรุ่นใหม่เข้ามาเยอะ และตอนนี้ได้มีระเบียบการเงินใหม่ที่เขียนละเอียดมาก ปิดช่องทั้งการทุจริต ลดปัญหาความไม่คล่องตัว

Q : ยุคก่อนไม่มี ผอ.อยู่เกิน 2 ปี

ผมก็ไม่คิดจะอยู่ยาวอยู่แล้ว ก็ทำภารกิจให้ดีที่สุด ตอนแรกที่ รมต.พิเชฐชวนมาก็คิดว่าอยู่แค่ 4 เดือนตอนตั้งองค์กร แต่มาแล้วมันพัวพันตามกฎหมายและหลายอย่างที่ต้องทำต่อ ก็คิดเสมอว่าถ้าเจอคนที่มีความสามารถก็พร้อมให้เขามาทำงานต่อ แต่ถ้ายังไม่เจอก็ยังไม่ปล่อย ถ้าดีกว่าเก่งกว่าผมพร้อมลุก ซึ่งบอกกับบอร์ดกับพนักงานตลอด และวางพื้นฐานให้มีคนเก่งจริง ๆ ที่พร้อมขึ้นมาในตำแหน่งนี้

Q : “ทุจริต-ใช้เงินเปลือง” จะไม่มี

เรื่องทุจริตเก่า ๆ ผมไม่แน่ใจว่ามีหรือเปล่านะ เพราะเท่าที่สอบมาและ สตง.ก็ยังไม่เจอว่าทุจริต แค่อาจจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนบ้าง ซึ่งผมเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ ๆ ในยุคนี้มีทัศนคติความคิดที่ดีทุกคน พนักงานเก่าที่อยู่ก็คือใจ ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

Q : ผลงานรอบ 1 ปี

ผมเน้นที่ผลสัมฤทธิ์กับผลลัพธ์ให้คุ้มค่ามีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดจะถูกตรวจสอบด้วยโซเชียลและสังคมสมัยใหม่ที่คนเข้าถึงข้อมูลได้เยอะ ทุกวันนี้ก็มีสตาร์ตอัพเดินเข้ามา เพราะเราช่วยสุดโต้งเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่แค่จัดงานผ่าน ๆ ไป ช่วยให้ถูกจุดจริง ๆ อย่างการจับปัญหาชุมชนมาแมชชิ่งกับสตาร์ตอัพที่อาสาสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาให้ อาทิ ชุมชนทางภาคเหนือมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำภูเขา ตรงนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชนและสตาร์ตอัพที่ไม่มีตลาด ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขยับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ที่สำคัญคือไม่ใช่โยนเงินให้แล้วจบ เขาต้องยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ด้วย คือแบ่งเป็นตามระดับ ถ้า SMEs ให้ฟรีครึ่งหนึ่ง ถ้าเป็นนักเรียนให้ฟรี 100%

Q : แต่ก็ยังเห็นจัดอีเวนต์อยู่

ยังมีงานที่ตกค้างเก่าจากยุคซิป้าที่เพิ่งมาตรวจรับ แต่ผมก็ชี้ต่อไปว่า แล้วอะไรคือ เน็ตสเต็ป ไม่ใช่แค่จัด ๆ แล้วจบไป แม้แต่แผนงานต่าง ๆ ต้องลงไปถึงระดับพื้นที่ประสานกับผู้ว่าราชการ หน่วยงานในท้องที่นำไปปฏิบัติจริง ๆ

Q : ไทยแลนด์บิ๊กดาต้าอีก 189 ล้าน

ปีที่แล้วเป็นงานไทยแลนด์บิ๊กแบ็ง เป็นงานที่ภาคภูมิใจนะ เพราะตอนนี้เจอนักลงทุนต่างประเทศ ไปเจอหน่วยงานต่างประเทศ ก็มีแต่คนถามว่า ปีนี้จะจัดเมื่อไร กลายเป็นว่าต่างชาติรับรู้เยอะกว่าคนไทยอีก ถ้าวางแผนดี ความคุ้มค่าจะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่จำนวนคนเข้างาน แต่อยู่ที่การทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับคนในประเทศและต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน ปีที่แล้วมีคนเข้าร่วมงานรวม 2 แสนคน ก็ถือว่าคุ้มในเชิงตัวเลข แต่คุ้มมากนั้นคือ เวลาที่เดินทางไปเจรจากับต่างประเทศ มีแต่คนถามว่าจะจัดงานอีกเมื่อไร อย่างญี่ปุ่นปีนี้เป็นประเทศแรกที่จองพื้นที่ใหญ่สุดเด่นสุดจัดเป็นเจแปนพาวิเลียน และยังมีอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวกับไอซีทีกับโทรคมนาคม ขอเข้ามาจองพื้นที่ด้วย

ปีนี้จัด 19-23 ก.ย. มีทัวร์นาเมนต์ใหญ่ของอีสปอร์ตด้วย เพราะเราจะเปลี่ยนอีสปอร์ตให้กลายเป็นโค้ดดิ้งสปอร์ต ตั้งโจทย์ว่าต้องให้เด็กรู้ภาษาคอมพิวเตอร์จากการเล่นเกม เป็นการปลุกระดมให้เด็กตื่นตัวกับการโค้ดดิ้ง ยุคนี้ต้องคิดแบบ out of the box

Q : จะย้ายออฟฟิศใหม่อีก 70 ล้าน

จะย้ายไปตึกใหม่ตรงลาดพร้าว ซอย 4 ชื่อลาดพร้าวฮิลล์ หน้าตึกมีสถานี MRT ที่ต้องย้ายเพราะดีป้าเป็นหน่วยงานส่งเสริม ต้องติดต่อกับสตาร์ตอัพกับนักลงทุน การตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เดินทางลำบาก แต่ที่ใหม่ทำเลดี และยังมีเรื่องทรัสต์กับองค์กรแบบนี้ในการดีลงานต่าง ๆ ซึ่งตอนแรกก็มีหลายที่ออฟเฟอร์มา แต่ราคาแพงกว่านี้

ตึกใหม่ดีป้าใช้ทั้งหมด 7 ชั้น แล้วดึงเอกชนเข้ามาซัพพอร์ตด้วยสัก 100 บริษัท บริษัทละ 150,000 บาทต่อปี สร้างเป็น lab testing กับ coworking space ให้กับเอกชนรวมถึงสตาร์ตอัพเข้ามาใช้พื้นที่ไปเลย 2 ชั้น จะมีทั้ง AI lab IOT lab สำหรับการเกษตร และอื่น ๆ อีกชั้นจะเป็น coworking space ให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดีย ซึ่งเงินปีละ 150,000 บาทสำหรับบริษัทเหล่านี้ไม่ได้เยอะ แต่เขาจะได้มีส่วนในการสร้างระบบนิเวศสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เหลืออีก 2 ชั้นเป็นพื้นที่สำหรับพนักงาน และจะมีห้องสัมมนาเพื่อหารายได้ด้วย คือดีดลูกคิดแล้วคุ้มที่จะย้าย

Q : 4 ปีในตำแหน่งที่ต้องทำให้เสร็จ

สร้างคนเป็นพื้นฐานสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างสถาบันไอโอทีให้เสร็จ ตึกแรกลงทุนเป็นอินฟราฯของรัฐตึกที่ 2 และ 3 เอกชนเข้ามาลงทุนเป็น lab กำลังประกาศร่าง TOR ออกแบบโครงการในงบฯ 128 ล้านบาท เริ่มก่อสร้าง ม.ค. 2562 ใช้งบประมาณ 1,480 ล้านบาท เป็นงบฯบิ๊กร็อก น่าจะเสร็จราวปี 2564