ยังไม่จบ! ศาลปกครองรอมติบอร์ด กสทช. พรุ่งนี้ชี้ขาดสิทธิ์เยียวยา”ดีแทค”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ศาลปกครองกลางนัดไต่สวน ในคดีหมายเลขดำที่ 1802/2561 ระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ขอให้เพิกถอนมติบอร์ดครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ซึ่งกำหนดให้ดีแทคต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz ถึงได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ด้วยการเปิดให้บริการเป็นการชั่วคราวหลังสัมปทานสิ้นสุด 15 ก.ย. 2561

โดยหลังจากใช้เวลาไต่สวนกว่า 4 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า จะรอผลการประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 12 ก.ย. 2561 ว่าจะมีมติให้ดีแทคได้สิทธิ์เยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานหรือไม่ หากดีแทคได้สิทธิ์ ศาลจะจำหน่ายคดีออกจากระบบ แต่ถ้าบอร์ดมีมติไม่ให้เยียวยา จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีต่อไป

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ได้แจ้งศาลว่าจะส่งมติบอร์ด กสทช. มาให้ในเวลา 11.30 น. วันที่ 12 ก.ย. 2561

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการไต่สวนใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง เป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยฝั่ง “กสทช.” ได้ชี้แจงแนวทางตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเรียกกันว่า “ประกาศเยียวยา”

ขณะที่ “ดีแทค” ได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่เข้าประมูล ทั้งย้ำว่า คลื่น 850 MHz ที่ขอใช้สิทธิ์เยียวยา ยังไม่ได้มีผู้ชนะการประมูล จึงเข้าข่ายได้สิทธิ์เยียวยา และอ้างอิงถึงกรณีที่สัมปทานของ “ทรูมูฟ-ดีพีซี-เอไอเอส” ก่อนนี้ที่ทุกรายได้สิทธิ์เข้าสู่มาตรการเยียวยา จึงควรมีความเท่าเทียม

โดยพลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ เป็นผู้ชี้แจงศาลด้วยตัวเองพร้อมกับฝ่ายกฎหมาย ขณะที่ฝั่งดีแทค มีนายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี นายรวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมาย และนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ เป็นผู้ชี้แจง

ก่อนหน้านี้ “ดีแทค” ชี้แจงว่า หากไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยาด้วยการเปิดระบบคลื่น 850 MHz ให้ใช้งานต่อได้หลังหมดสัมปทาน จะมีลูกค้าที่ได้ผลกระทบทั้งลูกค้าในระบบสัมปทานเดิมที่เหลือราว 3 แสนเลขหมาย ซึ่งในจำนวนนี้มี 9 หมื่นราย ที่ใช้งานบนคลื่น 850 MHz กับลูกค้าในระบบใบอนุญาต (ใบเสร็จค่าบริการออกในนามบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด) ที่ใช้คลื่น 850 MHz ราว 1 ล้านเลขหมาย  ซึ่งหากเครื่องโทรศัพท์ของลูกค้ารับได้เฉพาะย่าน 850 MHz หรือ อยู่ในพื้นที่ที่มีแต่คลื่น 850 MHz ให้บริการ (ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ต่างจังหวัด และไม่ใช่เมืองใหญ่) จะมีปัญหา “ซิมดับ” แต่ในกรณีอื่นจะยังใช้บริการได้ เพียงแต่จะมีปัญหาคุณภาพสัญญาณ