ดันประมูลคลื่นเหลือสิ้นปี กสทช.ชงภาษี OTT อาเซียน

กสทช.ชงอาเซียนคลอดกฎเก็บภาษี OTT ร่วมกัน สกัดเงินโฆษณาออนไลน์ไหลออกนอกประเทศปีละกว่าหมื่นล้านบาท พร้อมเล็งจัดประมูลคลื่น 900 MHz-1800 MHz ที่เหลือภายในปีนี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังจะรับตำแหน่งประธาน “อาเซียน” และกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมองค์กรกำกับดูแลด้านบรอดแคสต์และโทรคมนาคมของอาเซียน จึงมีแนวคิดจะผลักดันให้เกิดกลไกการกำกับดูแลร่วมกันสำหรับบริการคอนเทนต์ออนไลน์ (Over The Top) เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก

ข้อมูลของสมาคมโฆษณาดิจิทัลได้ประมาณการว่า ณ สิ้นปีนี้จะมีการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลราว 14,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 21% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้งบโฆษณากับเฟซบุ๊กและยูทูบ ทำให้เงินก้อนนี้ส่วนใหญ่ไหลออกนอกประเทศ และมีแนวโน้มจะไหลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาผ่านโทรทัศน์ ลดลงเฉลี่ย 10% ต่อปี จากมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาในโทรทัศน์ 2,500 ล้านบาท ในปี 2558 เหลือมูลค่า 2,000 ล้านบาท

“ถ้าไม่มีการบริหารจัดการที่ดีก็จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ อยู่ไม่รอด เพราะทุกอย่างไปออนไลน์หมด แต่ไม่มีเงินที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจจริง ๆ จึงพยายามจะเสนอแนวคิดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสร้างกลไกกำกับที่จะหยุดการรั่วไหลนี้ด้วยการเก็บภาษีผู้ให้บริการ OTT ไม่ใช่แค่ภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กรมสรรพากรกำลังดำเนินการ แต่จะรวมไปถึงภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเชื่อว่าเป็นประเด็นปัญหาที่ทุกประเทศในอาเซียนจะเห็นพ้องกัน แตกต่างจากการกำกับด้านคอนเทนต์ที่หลายประเทศอาจจะไม่เห็นด้วย”

ขณะที่ความคืบหน้าในการจัดเตรียมประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ที่ยังจัดสรรไม่หมดนั้น คณะทำงานของสำนักงาน กสทช.มีข้อสรุปว่า จะเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช.จัดประมูลรอบใหม่ให้เร็วที่สุดภายในปีนี้ เพื่อให้เกิดการนำคลื่นไปใช้ประโยชน์สูงสุด

“ต้องให้บอร์ดพิจารณาว่าจะแก้เงื่อนไขประมูลมากน้อยแค่ไหน ถ้าแค่ตัดเงื่อนไขการติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนบนคลื่น 900 MHz ออก ก็อาจจะเปิดประมูลได้ในเดือน ต.ค.นี้ แต่ถ้ามีการแก้ไขเกี่ยวกับการขยายงวดการชำระเงินด้วย จะต้องเปิดประชาพิจารณ์ในระยะเวลาที่ยาวขึ้น เพราะกระทบกับผู้ชนะประมูลก่อนหน้านี้ และต้องพิจารณาด้วยว่า กสทช.มีอำนาจ


จะทำได้แค่ไหน การประมูลก็อาจจะอยู่ราวเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งต้องพิจารณาคู่ไปกับกรอบการเยียวยาผู้บริโภคหลังสิ้นสุดสัมปทานของดีแทคด้วย เช่น อาจจะต้องกำหนดกรอบการคำนวณเงินรายได้ที่ต้องนำส่งเข้ารัฐแบบใหม่โดยหารเฉลี่ยค่าประมูลคลื่นออกมาเป็นเดือน แล้วให้ดีแทคจ่ายตามเวลาที่ใช้”