“เปิดเสรี” รับส่งข้อมูล หนุน GDP โต 10%

แต่ละวันมีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นและไหลเวียนอยู่ทั้งในโลกออนไลน์และโลกธุรกิจ

“บอริส วอยแทน” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายข้อมูลส่วนบุคคล การดูแลส่วนงานภาครัฐและกฎระเบียบสมาคมจีเอสเอ็มเอ (GSMA) เปิดเผยว่า 10 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามประเทศ ซึ่งเอื้อต่อการทำการค้า ส่งเสริมนวัตกรรม และผลักดันให้เกิดพัฒนาการด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์ม และบริการใหม่ ๆ

ก่อให้เกิดการเติบโตของจีดีพีทั่วโลกถึง 10.1% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 91.62 ล้านล้านบาท) อาทิ “ฟิลิปปินส์” มีผลกำไรจากการที่ข้อมูลมีประสิทธิภาพถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การวางระเบียบหรือข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอาจจะส่งผลเสียได้ เช่น ทำให้การเติบโตของจีดีพีลดลง

ปัจจุบันแนวทางการควบคุมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามชาติแบ่งเป็น 2 ทาง 1.อนุญาตให้แลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างอิสระและหาทางป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล 2.จำกัดการรับส่งข้อมูล โดยมีแนวคิดว่าควรจำกัดการรับส่งข้อมูลระหว่างประเทศ

“จีเอสเอ็มเอมองว่าภาครัฐควรจะยกเลิกการจำกัดข้อมูลไว้เฉพาะพื้นที่และประเทศต่าง ๆ ควรหาแนวทางการกำหนดความสอดคล้องในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัว เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือระหว่างกันมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ทั้งอาเซียนและเอเปกยังไม่มีกฎหมายที่เป็นความคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว ดังนั้น ควรปรับการทำงานเหล่านี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญได้เพราะกำลังจะรับตำแหน่งเป็นประธานอาเซียน จึงควรกำหนดวาระสำคัญของประชาคม เช่นเดียวกับที่รัฐบาลไทยกำลังพิจารณายกร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะมีข้อกำหนดการรับส่งข้อมูลข้ามพรมแดนด้วย ดังนั้น จึงอยากให้ประเทศไทยเป็นผู้นำและแบบอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้

“ไทยอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 เส้นทางนี้ คือ มีการพิจารณาที่จะออกกฎหมายคุ้มครอง แต่ก็มีเงื่อนไขในการจำกัดข้อมูลอยู่ ดังนั้น อยากให้ไทยปรับเปลี่ยนข้อจำกัดให้คล่องตัวขึ้น เช่น การตรวจสอบได้หรืออนุญาตให้ส่งข้อมูลข้ามพรมแดนได้ 1 ครั้ง และปรับให้สอดคล้องกับอาเซียนในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลข้ามพรมแดน อีกทั้งควรมีการจัดหน่วยงานเฉพาะทางมาดูแลโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดการร่วมมือที่ง่ายขึ้น”

ที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ มักจะหวาดกลัวว่าการเปิดแลกเปลี่ยนข้อมูลเสรีจะเป็นภัยกับความมั่นคง อธิปไตยหรือวัฒนธรรม แต่จริง ๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะการเปิดรับส่งข้อมูลเสรีเป็นการกระตุ้นธุรกิจดิจิทัล ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และช่วยต่อต้านการก่อการร้ายได้

ทั้งนี้ การมีกรอบการทำงานร่วมกันจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ มีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ก็ควรที่จะเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค เพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกันสะดวกในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลจากประเทศต้นทางจะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกันในประเทศปลายทาง ยิ่งช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตยิ่งขึ้น

“ประเทศไหนไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคก็จะลดทอนศักยภาพการแข่งขันของประเทศตนเอง”