เปิดฉากแล้ว “ดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2018” นายกฯ ย้ำ “ดิจิทัลคือเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ”

ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน “ดิจิทัลไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2018” ณ อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและศักยภาพในการทำธุรกิจของประชาชน โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 23 กันยายน 2561 ภายใต้แนวคิด “ไทยแลนด์ บิ๊กดาต้า : เข้าใจบิ๊กดาต้า เพื่ออนาคตข้างหน้าของทุกคน”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บิ๊กดาต้า เพื่อการพัฒนาประเทศ” โดยระบุว่า เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลได้วางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีเพื่อวางกรอบในการพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และได้มีการกำหนดแผนระยะสั้น 5 – 10 ปีที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในแต่ละช่วงเวลาด้วย

“ทุกวันนี้มีโลก 2 ใบคู่กันเสมอ ทั้งในเรื่องของคนและพื้นที่ เมื่อยืนอยู่ตรงนี้อาจจะเห็นว่า ทุกอย่างพร้อมที่จะไปสู่ดิจิทัล แต่นี่คือโลกที่แตกต่างจากที่ผมไปมาเมื่อ 2 วันก่อน (ครม.สัญจร จังหวัดเลย) คนที่แตกต่างยังมี ฉะนั้นเราจะต้องทำอย่างไรให้ทุกคนมีศักยภาพในการใช้และพัฒนา ต้องดูวิธีให้คนที่มีรายได้น้อยมีโอกาสได้เข้าถึงบริการเหล่านี้ ทั้งเพื่อการค้าขายและเข้าถึงความรู้ สิ่งสำคัญคือการทำให้ทั้งคน สังคม เติบโตไปพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งการพัฒนาดิจิทัลเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณสูง ฉะนั้นจะต้องดูว่าอะไรจำเป็นก่อน-หลัง อะไรที่ประชาชนผู้ใช้มีศักยภาพในการเข้าถึง ใช้งานอะไรตรงไหนได้บ้างแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องคิด”

ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าสิทธิมนุษยชน สิทธิส่วนบุคคล การผิดกฎหมายและสิทธิส่วนบุคคลเป็นเส้นเดียวกัน ที่จะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการใช้งานดิจิทัลที่ล้ำเส้นกัน และใช้งานให้ถูกทาง

ปัญหาหลอกลวงทางโซเชียลมีมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่ารัฐบาลจะจริงจังในการแก้ปัญหา นำตัวมาดำเนินคดีได้แล้วหลายราย แต่ก็ยังต้องมีการทำงานบูรณาการร่วมกันเพื่อยับยั้ง และในโอกาสที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ก็ต้องเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหานี้ เพื่อให้เป็นการร่วมกันแก้ไข เพื่อเชื่อมต่อแบบพหุภาคี

“เครื่องมือไฮเทค เทคโนโลยีทั้งหลายมาจากสมองคนไม่ได้เลิศเลอกว่ามนุษย์ เพียงแต่มีการจัดระเบียบ ฉะนั้นใช้งานได้ แต่อย่าถูกครอบครอง ที่สำคัญคือการสร้างคน สร้างการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่รัฐสร้างขึ้น ทุกวันนี้มีเน็ตประชารัฐที่ครอบคลุมไปแล้ว 3 หมื่นหมู่บ้าน กำลังเร่งทำให้ครบ 6 หมื่นหมู่บ้าน จึงต้องทำให้ทุกคนรู้หลักการหลักเกณฑ์และกฎหมาย เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะดิจิทัลคือส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม”