2 ปี กระทรวงดิจิทัล รวม “ทีโอที-แคท” ลุยเน็ตประชารัฐ

16 ก.ย. 2561 ครบรอบ 2 ปีของการก่อตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งได้แปลงร่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อายุ 14 ปี ให้เป็นกระทรวงใหม่ ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559

2 ปีที่ผ่านไป ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง “ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีกระทรวงดีอีคนแรก เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญคือการได้ปักหมุดการพัฒนาประเทศใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งในแง่ของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง “เน็ตประชารัฐ” การยกร่างกฎหมายว่าด้วยดิจิทัล ทั้งร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทั้งหมดจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ให้ได้ในเดือน ต.ค.นี้

2.การพัฒนากำลังคน และสนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพที่ได้มีการผลักดันให้มีการส่งเสริมให้ความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลแก่ชุมชน การปลดล็อกเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน การสร้างกลไกสนับสนุนการลงทุน รวมถึงงานไทยแลนด์ บิ๊กแบง ที่ปีที่แล้วมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2 แสนคนปีนี้จะจัดขึ้นระหว่าง 19-23 ก.ย.นี้ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3 แสนคน

3.การลงทุนด้านนวัตกรรมดิจิทัลนำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการใหญ่ของภาครัฐ อย่าง “ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์” ที่อยู่ในพื้นที่ศรีราชา และโครงการสมาร์ทซิตี้ใน 7 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ

ขณะที่ “เน็ตประชารัฐ ดิจิทัลพาร์ค สมาร์ทซิตี้” คือ ผลงานที่ภาคภูมิใจในการขับเคลื่อนนโยบายให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ “เน็ตประชารัฐ” ที่ไม่เคยมีการผลักดันได้สำเร็จมาก่อน แต่ปัจจุบันติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมด 24,700 หมู่บ้าน

ส่วนแผนงานที่จะเร่งผลักดันต่อไปคือ การจุดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะต้องระบุแผนปฏิบัติงานของกระทรวงตั้งแต่ปี 2561-2565 การผลักดันโครงการดิจิทัลพาร์คให้กลายเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของประเทศให้สำเร็จเป็นรูปธรรม และการเร่งรัดโครงการ Digital For All ที่จะยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐ โครงการระบบงานร้านค้าดิจิทัลชุมชน (Point of Sale : PoS) และโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตที่แท้จริง

ขณะที่การเดินหน้าพลิกฟื้นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดอย่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งล่าสุด ที่ประชุม “คนร.” คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มีมติเมื่อ 12 ก.ย. 2561 ให้ควบรวมกิจการของทั้งคู่ ปลัดกระทรวงดีอี “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเพื่อเตรียมการควบรวม ระบุว่า ภายในเดือน พ.ย.นี้

ทั้งทีโอทีและแคทต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อเป็นคนกลางในการจัดทำแผน “บริหารทรัพย์สิน-คน” เพื่อนำเสนอแผนดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยการควบรวมทั้งหมดจะต้องเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกปี 2562 ทั้งหมดจะช่วยลดปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อน และทำให้ทั้ง 2 องค์กรอยู่รอดได้ โดยเฉพาะเมื่อปี 2568 สิทธิ์การถือครองคลื่นของทั้ง “ทีโอที-แคท” จะสิ้นสุดลง


ขณะที่รัฐมนตรีดีอีย้ำชัด ๆ ว่า แนวทางควบรวมนี้ รัฐบาลให้นโยบายว่า “จะไม่ปลดคนออก-กระทรวงคลังยังถือหุ้น 100% เหมือนเดิม ไม่มีการขายหุ้นให้เอกชน”