มุมมองอีสปอร์ตระดับโลก “ค้นหาตัวเอง-ทุ่มเท-แบ่งเวลา”

กีฬาอีสปอร์ตกำลังเป็นที่ได้รับความสนใจและมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว ส่งผลให้อาชีพ “นักกีฬาอีสปอร์ต” เป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ใฝ่ฝันที่จะเป็น เพราะสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ยังมีอีกอาชีพ “นักพากย์” ที่แม้ว่าไม่ได้เป็นนักกีฬา แต่ก็ได้รับค่าตอบแทน อีกทั้งยังมีชื่อเสียงไม่แพ้กัน แต่การที่จะไปถึงจุดนั้นต้องผ่านอะไรบ้าง มาฟังมุมมองนักกีฬาอีสปอร์ตระดับโลก และนักพากย์มืออาชีพที่จะมาเล่าถึงแนวทางการไปเป็นมืออาชีพในวงการอีสปอร์ต

“มิกกี้-ปองภพ รัตนแสงโชติ” นักกีฬาอีสปอร์ตระดับโปรเพลเยอร์จากเกม “โอเวอร์วอตช์” (Overwatch) เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเล่นเกม Overwatch ก็ได้เล่นเกมอื่น ๆ มาบ้าง แต่เมื่อ 2 ปีก่อนพอเกมนี้เข้ามา ก็เล่นและตั้งใจที่จะแข่งขันจริงจัง แต่ไม่ได้มองเรื่องการเป็นมืออาชีพ จนประมาณ 1 ปีได้มีโอกาสคัดตัวไปแข่งขันเวิลด์คัพปีที่ผ่านมา และได้เข้าร่วมกับทีม “ดัลลาส ฟิวล์” (Dallas Fuel) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขัน Overwatch League ที่เป็นลีกสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มเป็นมืออาชีพอย่างเต็มตัว

สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากจะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต อาจจะพูดยากว่าต้องทำอย่างไร แต่อย่างแรก “ต้องหาตัวเองให้เจอ” ว่าถนัดอะไร เพราะตอนเด็ก ๆ ตนเคยอยากเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล แต่พยายามแล้ว แต่ก็สู้คนอื่นไม่ได้ จึงรู้ว่ามันไม่ใช่ ดังนั้นก่อนที่จะทุ่มเทกับสิ่งไหนอยากให้ลองทำสิ่งอื่นบ้าง เพื่อหาความถนัดของตัวเอง ดังนั้นมองว่าไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดของชีวิตเพื่อที่จะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต แต่ต้องแบ่งเวลาค้นหาสิ่งที่ตัวเองถนัดให้เจอ

“ก่อนที่จะเป็นโปรเพลเยอร์ ผมใช้เวลาแค่วันละ 4 ชั่วโมงในการซ้อม เวลาที่เหลือก็เรียนปกติ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องใช้เวลา 16 ชั่วโมงในการเล่นเกม เราไม่จำเป็นต้องทุ่มเทอย่างใดอย่างหนึ่ง เราสามารถทำ 2 อย่างได้โดยที่เราแบ่งเวลาให้เหมาะสม”

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองมักจะชอบมองว่า การที่จะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตได้แบบตน เป็นเรื่องที่น้อยคนนักที่จะเป็น ซึ่งไม่ผิด แต่อยากให้มองว่าไม่ว่าวงการกีฬาหรืออาชีพต่าง ๆ มีคนประสบความสำเร็จไม่เยอะ เพราะทุกอาชีพล้วนแต่ก็ต้องแข่งขัน ดังนั้นถ้าอยากสำเร็จก็ต้องแข่งขันกับคนอีกมหาศาล

ส่วนฝีมือของนักกีฬาไทยนั้นมองว่านักกีฬาไทยมีฝีมือทัดเทียมกับต่างประเทศ ทั้งทักษะส่วนตัวและการเล่นเป็นทีม แต่อาจจะยังขาดอะไรบางอย่างทำให้ยังสู้ไม่ได้ แต่มองว่าการแข่งขัน Overwatch World Cup 2018 รอบคัดเลือกที่จัดในประเทศไทย และในฐานะกัปตันทีมชาติไทย มองว่าการแข่งขันครั้งนี้ไทยมีโอกาสที่จะเป็นตัวแทนไปแข่งชิงชนะเลิศที่สหรัฐอเมริกา

“จากประสบการณ์ที่อยู่ในลีกมา 1 ปี ก็ค่อนข้างแตกต่างกับประเทศไทย ทั้งเรื่องกลยุทธ์ในเกม และระเบียบวินัยนอกเกม ดังนั้นผมก็พยายามที่จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาสอนเพื่อน ๆ ในทีม ทั้งเรื่องระเบียบวินัย การจัดการกับอารมณ์และแผนการแข่งขัน แต่อาจจะไม่ได้เต็มร้อยเพราะมีเรื่องของวัฒนธรรม แต่โดยรวมมองว่าน่าจะช่วยพัฒนาทีมได้”

ด้าน “ซัน-ดลประภพ เทียนดำ” (Sunwaltz) นักพากย์อีสปอร์ตมืออาชีพจาก “ดรีมแคสเตอร์ส” (Dreamcasters) กล่าวว่า ตนเริ่มพากย์เกมมาได้ 8 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นก็เป็นนักกีฬาแต่ไม่ใช่มืออาชีพ โดยสาเหตุที่หันมาเป็นนักพากย์ เพราะว่าเมื่อก่อนจะมีแค่ต่างประเทศที่มี ซึ่งดูแล้วรู้สึกว่าสนุกกว่าและในไทยยังไม่มี ขณะที่ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับนักพากย์มากขึ้น เนื่องจากบางคนหมดวัยที่จะเล่นหรือเล่นไม่เก่ง ดังนั้นนักพากย์จะเป็นผู้ส่งต่อความสนุกและให้ความรู้ เพราะนักพากย์มีหน้าที่สื่อสารให้คนดูเข้าใจง่ายที่สุด รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญมากในการช่วยอัพเดตข้อมูลของเกม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาชีพนักพากย์ยังไม่แพร่หลาย โดยคาดว่าระดับมือโปรที่สามารถหารายได้ได้ มีประมาณหลัก 10-20 คน โดยจะแบ่งเป็นทั้งฟูลไทม์และฟรีแลนซ์ มีเงินเดือนประมาณ 15,000-40,000 บาท ต่างจากสมัยก่อนที่พากย์ได้ครั้งละ 30 บาทต่อการแข่งขัน

“คุณสมบัติที่จะเป็นนักพากย์คือ ต้องไม่หยุดตัวเอง ต้องศึกษาเกม เพราะเกมมีข้อมูลที่ต้องอัพเดตตลอด ทั้งเรื่องนักกีฬา รวมทั้งตัวเกมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด อีกทั้งมีการอัพเดตครั้งใหญ่ทุก ๆ 1 ปี นอกจากนี้ยังต้องฝึกฝนการพากย์บ่อย ๆ เพื่อให้การมองกับการพูดสัมพันธ์กัน แต่ก็ต้องบริหารจัดการเวลาและมีวินัย เพราะการเป็นนักพากย์ไม่จำเป็นต้องเล่นเกมจนเสียคน เพียงแต่ต้องจัดระเบียบชีวิตให้ได้”