ดึงไอทีสร้างวิถีเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกบทบาทแม่ทัพ ซี.พี.

  • สัมภาษณ์

“สานพลังประชารัฐ” คือ หนึ่งโครงการที่รัฐบาลดึงภาคเอกชนมาร่วมพัฒนาประเทศ ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะมีชื่อ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ลงแรงอย่างเต็มที่ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน กลุ่มการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (E5) โดยเฉพาะกับ “CONNEXT ED” โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ลุยยกระดับการเรียนรู้ “โรงเรียนประชารัฐ” โดยจับมือกับ 12 ภาคเอกชนในเฟสแรกไปแล้ว 3,351 โรงเรียน ด้วยมูลค่ากว่า 2,447 ล้านบาท พร้อมต่อเฟส 2 กับ 1,246 โรงเรียน “ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดเบื้องหลังแนวคิดการพัฒนา

Q : เป้าหมาย CONNEXT ED

การปรับวิถีการเรียนให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่า คือ ถ้าตัวชี้วัดของคุณครู ยังถูกกำหนดให้เป็นการทำให้เด็กสอบ O-Net ป.6 กับ ม.3 ให้ได้ วิถีการเรียนรู้ก็จะเปลี่ยนไม่ได้ โรงเรียนจะเป็นแค่สถานที่ให้เด็กเตรียมสอบ จึงต้องเปลี่ยนตัวชี้วัดของคุณครู คือ ทำให้เด็กตั้งคำถามได้ มีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ทำให้เด็กมีโอกาสค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ ได้ ซึ่งถ้ามีคอมพิวเตอร์ก็ช่วยค้นคว้าวิจัย ให้เด็กได้ดีเบตกันด้วยเหตุผล

Q : ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ

ใช่ อย่างในการวัดว่าตัวชี้วัดที่ตั้งเป้าไว้ดีขึ้นหรือไม่ โดยสร้างรายงานของเด็กที่เก็บข้อมูลในคลาวด์แพลตฟอร์ม เก็บคอมเมนต์ของคุณครูแต่ละวิชาที่มีต่อเด็ก และให้ผู้ปกครองดูได้ว่า จะพัฒนาศักยภาพเด็กแต่ละคนอย่างไร

Q : แนวทางความร่วมมือ

มุ่งสร้างปัจจัยพื้นฐานก่อน โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี จะมีสกูลพาร์ตเนอร์เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่แต่ละองค์กรจะคัดเลือกและอบรม ส่งไปช่วย ผอ.โรงเรียน ช่วยวางแผน ประเมินตัวชี้วัด บนยุทธศาสตร์คือ การประเมินตัวชี้วัด ช่วยวางแผน ส่งเสริมกลไกตลาด ซึ่งงานสำคัญคือการเชื่อมโยงเอกชนในพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้

Q : ตั้งกองทุนระดมทุน

ตอนนี้อินเทอร์เน็ตถึงทุกโรงเรียนแล้ว แต่คอมพิวเตอร์ยังไม่ถึงเด็กทุกคน และกำลังทดสอบอยู่ว่า ต้องมีซอฟต์แวร์ คอนเทนต์ วิธีการที่เด็กแต่ละยุคจะใช้คอมพิวเตอร์อย่างไรให้ชัดเจน แล้วก็จะผลักดันเรื่องคลาวด์ฟันดิ้ง คือ กองทุนที่ทุกคนเลือกได้ว่าจะบริจาคคอมพิวเตอร์กี่เครื่อง ให้โรงเรียนไหน มีเร็กคอร์ดไว้หมดว่า เครื่องที่บริจาคไปอยู่ที่ไหน เด็กคนไหนได้รับ หลักคือส่งให้เป็นทรัพย์สินของโรงเรียนแล้วให้เด็กยืม แต่กำลังทดสอบระบบสกรีนคอนเทนต์ เป็นคลาวด์มอนิเตอริ่ง ให้เด็กได้รับคอนเทนต์ที่เหมาะสมโดยเป้าหมายคืออยากให้นักเรียน1 คน มีคอมพิวเตอร์มีแล็ปทอป 1 เครื่องมีนักเรียนเป้าหมาย 1 ล้านคน

Q : ซี.พี.บริจาคไปแล้ว

ลงไปเยอะพอสมควรในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อย่างโรงเรียนเฟสแรก เราลงโครงสร้างพื้นฐานให้หมดไปถึงห้องเรียน ตัวโครงข่ายลงไป 1,500 โรงเรียน ส่วนอีกพันกว่าโรงเรียนมี UniNet ที่พอใช้ได้อยู่ แต่กำลังจะเพิ่มให้อีกและมีคอนเทนต์ในกลุ่มเข้าไปซัพพอร์ต สื่อการเรียนการสอนดิจิทัลตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 ทุกวิชาให้หมด แล้วพยายามดึงอาจารย์หรือติวเตอร์เก่ง ๆ มาช่วยสร้างคอนเทนต์เสริมเพิ่มให้ด้วย

Q : รับสมัครไอทีทาเลนต์

เมื่อเอาโครงสร้างดิจิทัลไปลงให้แล้ว แต่คุณครูและเด็ก ๆ ยังไม่คุ้นเคย จึงต้องมีเชนจ์เอเย่นต์ให้คุณครูมั่นใจขึ้นในการใช้สื่อใหม่ ๆ ใช้งานเป็น ระบบคอมพิวเตอร์ก็มีคนบำรุงรักษา ไม่ใช่ให้ไปแล้วจบ ไอทีทาเลนต์จะไปช่วยตรงนี้ รับสมัครและคัดเลือกโดยผ่านเอกชน ส่งไปทำงานกับโรงเรียน 5 ปี จะเป็นคล้าย ๆ กับพนักงานของเอกชนที่เป็นพาร์ตเนอร์โครงการ เริ่มที่พนักงานของทรู นำร่องไปก่อน ตอนนี้มีแล้ว 200 คน ทางกระทรวงศึกษาฯกำลังจะเพิ่มอีก 500 คน

Q : แก้ปัญหา “คน” พัฒนาประเทศ

ใช่ คือเราต้องทำให้เด็กเป็นศูนย์ของการเรียนรู้ การพัฒนา ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างระบบสมุดพกดิจิทัล ออกแบบระบบให้รู้ได้เลยว่า ครูใช้เวลาแค่ 1 นาที หรือใช้ copy & paste กับเด็ก รวมถึงผู้ปกครองเคยดูสมุดพกของลูกไหม ก็จะเป็น KPI ของคุณครูในการดึงให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม

Q : เป็นปัญหาใหญ่ใน 3 ปีที่ผ่าน

2 ปีแรกเน้นที่การสร้างพื้นฐาน เช่น การตกลงร่วมกันเรื่องตัวชี้วัดให้เด็กมีทั้ง IQ และ EQ พอมีแล้วก็จะประเมินทุกปี เพื่อให้เห็นว่าแต่ละโรงเรียนมีการพัฒนามากน้อยแค่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงที่เพิ่งเริ่มพัฒนา ซึ่งยังเหลืออีก4 ขั้นที่จะต้องก้าวไป คือ สอบผ่านพอใช้ ดี ดีมาก และยอดเยี่ยมแต่จะก้าวไปถึงระดับดี จะใช้เวลาไม่นาน ด้วยกลไกตลาดที่ข้อมูลให้เทียบ พอ ผอ.เริ่มเห็นว่า ปีถัดไปเพื่อนขยับไปอีกขั้นแล้ว แต่ฉันยังอยู่ที่เดิม คนก็จะเริ่มนั่งไม่ติด กลไกตลาดตรงนี้เริ่มต้นจากวางตัวชี้วัด ความโปร่งใส และรายงาน ซึ่งทุกอย่างอยู่บนอินเทอร์เน็ต

แต่ความตระหนักของพ่อแม่เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะความพร้อมของระบบเศรษฐกิจและผู้ปกครอง ที่ทุกวันนี้ผู้ปกครองเราต้องมองที่ปากท้องมาก่อน คุณครูจึงต้องมีหน้าที่อีกอย่างคือ พัฒนาผู้ปกครองด้วย คือทั้งพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพ รวมถึงการต้องทำให้ผู้ปกครองรู้ว่า do & don?t ที่ควรทำกับลูกคืออะไร เรากำลังพัฒนาตรงนี้อยู่

Q : กระแสว่าสร้างภาพ

ก็ไม่เป็นไร ทุกพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาก็รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะนี่คือพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือ การสร้างให้เกิดวิถีการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ นี่คือปัจจัยสำคัญ