‘ทีโอที-แคท’ ติดสปีดธุรกิจดิ้นหนีคู่แข่ง

“ทีโอที-แคท” เร่งธุรกิจดิจิทัลหนีคู่แข่งไล่บี้ ควบคู่ควบรวมเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ชี้ “โอกาส-ตลาด” ไม่รอใคร ฟาก “ทีโอที” มองหาพาร์ตเนอร์เป็นทางลัดจับตลาดแมตชิ่ง B2B เมินประมูลเน็ตชายขอบ ลั่น “เข็ดแล้ว” ส่วน “แคท” ลุยปั้นโซลูชั่น IOT ภูเก็ต ปูพรมโครงข่าย LoRa ทั่วประเทศไตรมาส 1 ปี’ 62

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 6 เดือนจากนี้นอกจากจะเร่งควบรวมกิจการกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ให้เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติแล้ว ยังเร่งเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี ที่วางไว้ด้วย โดยเฉพาะการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล

“ตราบใดที่ยังไม่มีการควบรวมเกิดขึ้น แผนพัฒนาสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นยิ่งต้องเร่งทำ เพราะโอกาสคือสิ่งที่ไม่รอทั้งทีโอที และแคท”

หาพาร์ตเนอร์ลุยธุรกิจดิจิทัล

การเร่งทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กร เริ่มเห็นผลในหลายส่วนงานแล้ว แต่ยังเป็นแค่ภายในองค์กร อาทิ ให้บริการผ่านเว็บไซต์ ผ่านแอปพลิเคชั่น การตรวจสอบพื้นที่การใช้ จากนี้จะเน้นให้เข้มข้น
ขึ้น รวมถึงธุรกิจบริการด้านดิจิทัล

“บริการดิจิทัลโซลูชั่นต่าง ๆ ต้องยอมรับว่าทีโอทียังช้า ไม่ทันที่จะเข้าตลาดเอง ก็ต้องใช้ทางลัดคือจับมือกับพาร์ตเนอร์ ภายใน 6 เดือนนี้อย่างน้อยควรได้รับอนุมัติในการเลือกว่าใครจะเป็นพาร์ตเนอร์ ซึ่งจะเน้นบริการ B2B ในลักษณะของการแมตชิ่งความต้องการของธุรกิจกับทรัพยากรต่าง ๆ”

เข็ดแล้วเน็ตชายขอบ

ส่วนธุรกิจเดิมจะเร่งเปลี่ยนอุปกรณ์ชุมสายโทรศัพท์ทีี่อายุกว่า 25 ปีแล้ว โครงการ “เน็ตชายขอบ” ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดประมูลเฟสใหม่ ทีโอทีคงไม่เข้าร่วม เพราะมีส่วนที่ต้องเข้าไปก่อสร้างอาคารด้วย ซึ่งประสบการณ์ในเฟสแรกพบว่าเป็นงานส่วนที่มีปัญหามาก

“ย้ำชัดกับฝ่ายที่ดูแล้วไปว่าครั้งแรกครั้งเดียวพอเข็ด เพราะงานก่อสร้างมีปัญหาเรื่องอิทธิพลท้องถิ่นในพื้นที่เยอะ ส่วนการติดตั้งล่าช้าในเฟสแรกกำลังเร่งแก้ไข แต่ก็มีปัญหาอีกส่วนจากการที่ กสทช.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้”ขณะที่การควบรวมกิจการกับแคทอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดของ

แผนพิพาท AC 3.4 แสนล้าน

“มองว่าทีโอที คือ ศักยภาพ+ปัญหา+โอกาส แคทก็เหมือนกัน ซึ่งการควบรวมอาจจะทำให้ศักยภาพเพิ่มขึ้นในบางกรณี แต่โอกาสไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะมีตลาดเดียวกัน แต่ปัญหาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าแน่นอน จึงจะทำให้ช่วงแรก ๆ ในการรวมกันเสียเวลาค่อนข้างเยอะไปกับการหาทางแก้ปัญหา จึงต้องเตรียมรับมือ เรียกว่าปัญหาคดีความอาจจะกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย ส่วนเรื่องกรรมสิทธิ์ในคลื่นถือว่ากังวลไม่มากเท่าไร”

ข้อพิพาทหลักที่กังวล คือ ค่าแอ็กเซสชาร์จ (AC) ที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ซึ่งทีโอทียื่นฟ้องแคทกับเอกชนที่รับสัมปทานจากแคทราว 3.4 แสนล้านบาท

“เราไม่ได้หวังว่าจะได้ 3 แสนล้านบาทจากแคท แต่เป็นเรื่องของการตัดสินใจที่เราไม่สามารถทำได้เอง เนื่องจากว่าในยุคหนึ่งสิ่งที่ตัดสินใจอาจจะสมเหตุสมผล แต่ในอีกยุคอาจจะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ การให้ศาลตัดสินจึงปลอดภัยที่สุด”

แคทปูพรม LoRa

ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานเร่งสำคัญใน 6 เดือนนี้ สิ่งแรกคือการเตรียมควบรวมกิจการกับทีโอที แต่ในฝั่งธุรกิจของแคทก็ยังเดินหน้าต่อเนื่องควบคู่กัน โดยเฉพาะการจับมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดึงเข้ามาในโครงการ sandbox ของแคท ที่จะเป็นพื้นที่ทดลองบริการด้านนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 10 หน่วยงานแล้ว โดยแคทจะเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลที่จำเป็นให้

ขณะที่บริการด้าน IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) จะเน้นเจาะตลาดพื้นที่ภูเก็ตมากขึ้น โดยจะพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด เน้นการสร้างสมาร์ทซิตี้ให้กับเมืองภูเก็ต รวมถึงโซลูชั่นที่รองรับตลาดท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวก และปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ส่วนการวางโครงข่าย LoRa ที่จะรองรับการใช้งาน IOT จะครอบคลุมทั่วประเทศทั้งหมดภายในไตรมาส 1 ปี 2562