‘ทรูมันนี่’ ลุยเชื่อมออฟไลน์ ผนึกพันธมิตรรักษาแชมป์

“ทรูมันนี่” เร่งโตรักษาแชมป์ “อีวอลเลต” ผนึกพันธมิตร “ร้านค้า” เพิ่มจุดชำระรองรับสังคมไร้เงินสดปูพรม 1.2 แสนจุด-ขยับฐานคนใช้ในไทยสู่ 10 ล้านรายในสิ้นปี ย้ำกลยุทธ์ “Online-to-Offline” รุกโคโปรโมชั่นร่วมพาร์ตเนอร์ดึงลูกค้าใช้งานเพิ่ม อัดฉีดแคมเปญกระตุ้นยอด
นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทรูมันนี่ (TrueMoney) เปิดเผยว่า ช่วง ม.ค.-ส.ค. 2561 มียอดธุรกรรมทางการเงินในไทยผ่านแอปพลิเคชั่น “ทรูมันนี่” กว่า 70,000 ล้านบาท มีฐานผู้ใช้งานประจำกว่า 7 ล้านราย คาดว่าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านราย และขยายจุดรับชำระเป็นกว่า 1.2 แสนจุดในสิ้นปีนี้
โดยปีนี้เน้นเพิ่มร้านค้าออฟไลน์ทั้งรายใหญ่และรายย่อย รองรับไลฟ์สไตล์ในยุคสังคมไร้เงินสด (cashless society)
“เราโฟกัส 2 ส่วน คือ 1.ทำให้ร้านค้าที่ใช้เพย์เมนต์แพลตฟอร์มของเราสะดวกในการขายสินค้า และเพิ่มโอกาสเข้าถึงฐานลูกค้าทรูมันนี่กว่า 7 ล้านราย และ 2.ทำให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของลูกค้าทรูมันนี่สะดวกสบาย และได้รับสิทธิประโยชน์จากโปรโมชั่น ทั้งของเราและที่ทำร่วมกับร้านค้า”
ล่าสุดมีแคมเปญ Welcome Bonus สำหรับลูกค้าใหม่จะได้รับเงินคืน 20 บาท หลังใช้จ่ายครั้งแรกผ่านแอปพลิเคชั่น และ “Lucky Bag” ทุกลูกค้าที่ใช้ในร้านค้าร่วมรายการตั้งแต่ 30 บาทขึ้นไปผ่านทรูมันนี่ จะมีสิทธิ์สแกนคิวอาร์โค้ด ลุ้นรับเงินสูงสุด 10,000 บาท รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นการใช้งานเพิ่มขึ้น ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นปีนี้
ด้านนางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัทเดียวกัน กล่าวต่อว่า ทรูมันนี่เป็นอีวอลเลต
แอปพลิเคชั่นอันดับหนึ่งทั้งในแง่ยอดดาวน์โหลด และฐานผู้ใช้งานประจำมากที่สุดในตลาด มีจุดเติมเงินกว่า 2 แสน
จุด มีจุดรับชำระทั้งที่เป็นร้านค้ารายย่อยและรายใหญ่กว่าแสนจุด และใช้จ่ายได้ตลอด 24 ชั่วโมงครอบคลุมไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ตั้งแต่เติมเงินค่าทางด่วน (อีซี่พาส), เติมเงินเกม, ช็อปปิ้งออนไลน์, โอนเงิน, ซื้ออาหาร , จ่ายบิล เป็นต้น
“เดิมเราโตมาจากการใช้จ่ายออนไลน์ กำลังเร่งขยายออฟไลน์เพย์เมนต์มากขึ้น ซึ่งเติบโตค่อนข้างเร็วมาก สิ่งที่ต้องทำคือเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดี สะดวกสบายและใช้ได้ทุกวัน”
ปัจจุบันทรูมันนี่วอลเลตมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 200 บาท/ครั้ง ใช้เฉลี่ย 7.2 ครั้ง/เดือน เพิ่มจากปีก่อน เพราะผู้บริโภคมั่นใจมากขึ้น และขยายมายังกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่จากที่กลุ่มผู้ใช้แรก ๆ จะเป็นเด็กที่ใช้เพื่อซื้อดิจิทัลคอนเทนต์อย่างเติมเงินเกม, ซื้อไอเท็ม เป็นหลัก
“การแข่งขันในปัจจุบันเพิ่มขึ้นจากผู้เล่นที่มากขึ้น แต่ละรายก็คงมีจุดแข็งต่างกัน แต่เราต่างจากคู่แข่งที่มีอีโคซิสเต็มที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันได้ค่อนข้างครบ เพราะการมีอีวอลเลตหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียวไม่มีประโยชน์ เราเติมเงินมือถือ เติมเน็ต จ่ายบิล กำลังขยายมาถึงรีเทล และตั้งแต่ 1 ต.ค. จะเปิดให้จ่ายเงินสำหรับเรือด่วนเจ้าพระยา 15 สถานี และมีส่วนลดให้ผู้โดยสารอีก 5 บาท”