
เข้าสู่โค้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ก่อนจะเลือกตั้งในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยังมีภารกิจทั้งผลักดันการใช้ประโยชน์จากโครงข่าย “เน็ตประชารัฐ” ที่ติดตั้งเสร็จแล้ว กับการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจใต้สังกัดอย่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ด้วยโมเดลล่าสุด “ควบรวมกิจการ”
ล่าสุด รองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ได้ฝากการบ้านสำคัญที่ “ดีอีต้องทำก่อนเลือกตั้ง” คือ การทำให้ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เข้าสู่ยุคดิจิทัลให้ได้ แม้ 3 ปีที่ผ่านมาจะทำงานอย่างหนัก จนทำให้ “ราคาคุยสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว” ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายเน็ตประชารัฐที่ไปถึง 24,700 หมู่บ้านแล้ว การกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนตื่นตัวกับเทคโนโลยีดิจิทัล เห็นได้ชัดจากงานดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบงทั้ง 2 ครั้ง ที่มีผู้เข้าร่วมงานหลายแสน
ปักธงฮับอาเซียน
“หน้าที่ดีอีไม่ใช่แค่วางสาย แต่ต้องทำให้เกิดการใช้งานที่บรรลุผล โดยต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานและเอกชน ไม่ใช่แค่ลากสายไปแค่หมู่บ้านละ 1 จุดเป็นหัวตอไว้ แต่ต้องทำให้เกิดการพัฒนาการศึกษา เกิดธุรกิจ เกิดบริการด้านสาธารณสุขที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต”
ดังนั้น การบ้านที่จะฝากไว้ให้ดีอีเร่งทำ คือ 1.ให้คนไทยได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ในราคาถูกกว่าเดิม 2.ไม่อยากให้เป็นแค่หมู่บ้านละ 1 จุด แต่ต้องเข้าถึงการใช้งานแบบโมบายได้ทุกพื้นที่ในหมู่บ้าน ด้วยความเร็วที่สามารถใช้งานได้จริง
“เมื่อต้องการเป็นฮับของอาเซียน ไม่ใช่แค่มีถนน แต่ต้องมีดิจิทัล ประชาชนต้องเข้าถึงบริการและใช้ได้งานแบบถูก เร็ว ทั่วถึง เกาหลีใต้ที่พัฒนาไปได้เร็วก็ด้วยสิ่งนี้ งานวางเคเบิลใต้น้ำเชื่อมโยงระหว่างประเทศต้องทำให้เร็ว ฉะนั้น ทีโอที แคท ไปรษณีย์ไทย ต้องช่วยกัน”
3.บริการ 5G ต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2563 โดยต้องเตรียมตัวตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ต้องเตรียมจัดสรรคลื่น คำนวณต้นทุนต่อหน่วย โดยต้องให้เกิดการใช้งานได้จริง 4.ทีโอที แคท ไปรษณีย์ฯ ต้องเพิ่มภารกิจให้ดิจิทัลเข้าถึงประชาชนและภาคธุรกิจ ต้องมีวิสัยทัศน์นี้ให้ชัดเจน
พลิกโฉม “ทีโอที-แคท-ปณท”
“งานทีโอที แคท ไปรษณีย์ไทย ไม่ใช่แค่ปักเสาวางสายอีกต่อไปแล้ว แต่รัฐบาลจะใช้ให้เป็นอย่าง ไป่ตู้ อาลีบาบา เทนเซ็นต์ ที่ทำงานเชิงธุรกิจ ถ้ายังไม่รู้จะทำอย่างไร ให้จ้างที่ปรึกษามา เพื่อให้ทำธุรกิจแข่งกับเอกชนได้แบบเป็นเฟรนด์ลี่กัน แม้จะมีแนวโน้มว่าจะควบรวมทีโอทีกับแคท แต่ก็ไม่ต้องรอให้ควบรวมเสร็จ ให้เริ่มคิดเริ่มทำเดี๋ยวนี้ แบ่งหน้าที่กันว่าใครต้องทำอะไร แล้วสื่อให้ถึงพนักงานทุกคนของทีโอที แคท ไปรษณีย์ไทย ช่วยทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้ ไม่ใช่แค่ความอยู่รอดขององค์กร เพราะองค์กรอยู่รอดอยู่แล้ว แต่ถ้าอยู่แบบไม่มีผลงานแล้วจะอยู่ไปทำไม ไม่ใช่อยู่ไปวัน ๆ แบบโบนัสห้ามตัด นี่ไม่ใช่วิสัยของการพัฒนาที่ดี”
5.งานด้านกฎหมายที่จะมารองรับการขับเคลื่อนดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจต้องให้ชัดเจน และจบให้เร็ว ให้ทันเวลาของรัฐบาลนี้ ต้องไล่จี้กับทางคณะกรรมการกฤษฎีกา กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะเดียวกันก็ต้องมีเวลาให้เอกชนเตรียมตัวอย่างเหมาะสมด้วย
“ทุกอย่างต้องพอดี ๆ ทั้งเวลาให้เอกชนเตรียมตัวและเงื่อนไข อย่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าอะไร ๆ ก็เปิดเผยไม่ได้ ก็ทำบิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ไม่ได้ แต่ก็ต้องเฉพาะที่จำเป็น ไพรเวซี่ของคนต้องไม่ไปแตะ”
6.โครงการดิจิทัลพาร์ค สมาร์ทซิตี้ และ EEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) กระทรวงต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมให้ครบ ไม่ต้องรอการก่อสร้างส่วนอื่น และต้องหาผู้เข้ามาลงทุนให้เยอะที่สุด
“หมดเวลาที่จะหว่านไปทั่วแล้ว 3 เดือนนี้ต้องไปจี้เลยว่า ทุนจีน ต้องการใครเข้ามาลงทุน ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ต้องไปเดินสายชักชวนมาเลย และไม่ใช่แค่บริษัทเอกชน เพราะทุกแบรนด์สนใจไทยอยู่แล้ว ฉะนั้น เราต้องไปดึงสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยมาให้ได้ โดยทั้งเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ คือ 3 เสาหลักที่จะผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัพในอุตสาหกรรมต่าง ๆ”
ดึงเอกชนร่วมสร้างคน
7.การอบรมพัฒนาบุคลากรต้องมีผลที่ชัดเจน เป้าหมายที่วางไว้ 1 ล้านคน ต้องจับมือร่วมกับเอกชนและสถาบันการศึกษาให้มาซัพพอร์ตส่วนนี้ด้วย โดยกำหนดแรงจูงใจพิเศษ อาทิ ถ้าภายในเวลาเท่านี้ผลิตคนได้ตามที่กำหนดจะได้สิทธิประโยชน์พิเศษอะไรบ้าง
8.งานด้านบิ๊กดาต้า ต้องให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้แต่ละหน่วยงานทำบิ๊กดาต้าและดาต้าอนาไลติกส์ได้