ศาลปกครองยกฟ้อง”กสทช.” ชี้มติสั่งกรมประชาฯคืนคลื่นชอบด้วยกม.

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

ศาลปกครองชี้มติ กสทช. สั่งกรมประชาสัมพันธ์คืนคลื่น 2600 MHz ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเดินหน้าประชาพิจารณ์ร่างประกาศหลักเกณฑ์เรียกคืนคลื่น ก่อนเจรจา “อสมท” ดึงจัดสรรใหม่ “วงใน” ระบุความถี่ย่าน 2600 MHz ไม่ดึงดูดค่ายมือถือ แต่หนุนบทบาท กสทช.เรียกคืนคลื่น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 ศาลปกครองกลางได้พิพากษายกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ 1037/2557 กรมประชาสัมพันธ์ ฟ้องให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ 2/2557 สั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ยุติการใช้งานและส่งคืนคลื่นความถี่ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ความจำเป็นในการใช้งานคลื่นย่าน 2504-2528 MHz ของกรมประชาสัมพันธ์ ไม่มีอีกต่อไป มติของ กสทช.ที่ให้ส่งคืนคลื่นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมประชาสัมพันธ์ได้รับจัดสรรคลื่นดังกล่าวจากกรมไปรษณีย์โทรเลขตั้งแต่ปี 2539 เพื่อใช้ในการให้บริการวิทยุโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก โดยให้บริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) เข้ามาดำเนินการ แต่ต่อมาคู่สัญญาอ้างว่า ต่างฝ่ายต่างทำผิดเงื่อนไขจนเป็นข้อพิพาทและนำมาสู่การบอกเลิกสัญญา

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนี้จะแจ้งให้ที่ประชุมบอร์ดทราบถึงคำพิพากษา แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะกรมประชาสัมพันธ์มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ดังนั้น กสทช.ยังไม่สามารถดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับคลื่นนี้ได้ หากจะนำมาจัดสรรใหม่สำหรับการใช้ด้านโทรคมนาคมต้องใช้คู่กับคลื่น 2600 MHz ในส่วนที่อยู่ในการถือครองของ บมจ.อสมท ซึ่งต้องรอให้ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีผลบังคับใช้ก่อน จึงจะเรียกคืนคลื่นได้ โดยปัจจุบันกำลังนำร่างประกาศออกประชาพิจารณ์

“กรณีของกรมประชาสัมพันธ์ กสทช.มีมติเรียกคืนคลื่นเพราะสัญญาที่กรมทำไว้กับเอกชนสิ้นสุดแล้วจึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นในการใช้คลื่นอีก แตกต่างจากคลื่นในส่วนของ อสมท ซึ่งยืนยันว่ายังจำเป็นในการใช้งาน เพราะสัญญาที่ทำไว้กับบริษัท เพลย์เวิร์คยังไม่สิ้นสุด ฉะนั้น ต้องรอประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไข จากนั้นจึงเริ่มเจรจาเรียกคืนคลื่น และประเมินมูลค่าคลื่นเพื่อหาราคาเริ่มต้นประมูล”

ด้านแหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ กสทช.จะเดินหน้าเรียกคืนคลื่นความถี่ในมือภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้มีการใช้งาน หรือมีการทำสัญญาไปให้ผู้อื่นใช้งาน เนื่องจากผิดเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.กสทช.ที่กำหนดให้ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นต้องใช้งานคลื่นเอง ห้ามโอนสิทธิ์ให้ผู้อื่นดำเนินการแทน แต่เนื่องจากคลื่นที่พิพาทในคดีนี้ต้องใช้เทคโนโลยี FDD (frequency division duplex) จึงจำเป็นต้องมีอีกลอตคลื่นใช้งานคู่กัน คือย่าน 2624-2648 MHz ที่ อสมท ทำสัญญากับเพลย์เวิร์คไว้ จึงจะนำมาให้บริการ 4G ได้

“จริง ๆ ไม่ต้องรอเรียกคืนคลื่นอีกขา แต่นำมาใช้บนเทคโนโลยี TDD (time division duplex) แบบที่ดีแทคใช้กับคลื่น 2300 MHz ก็ได้ ทางอินเดียใช้งานแบบนี้สำหรับเตรียมรองรับ 5G แต่อุปสรรคสำคัญคือ อุปกรณ์โครงข่ายและแฮนด์เซตที่รองรับแทบไม่มี จึงไม่มีความคุ้มค่า ขณะที่คลื่นย่าน 2600 MHz มีมูลค่าต่ำกว่า 1800 MHz ซึ่งเป็นย่านที่ดีที่สุดสำหรับให้บริการ 4G LTE

ค่อนข้างมาก หาก กสทช.นำออกมาประมูลคงไม่มีโอเปอเรเตอร์สนใจ ปัจจุบันค่ายมือถืออยากได้คลื่นย่าน 700 MHz มากกว่า”