ทีโอทีวืดภาษีสรรพสามิต ปมสัมปทาน 2 แสนล้าน

อีกหนึ่งของผลพวงสัญญาสัมปทาน กับคำพิพากษาล่าสุดของศาลปกครองกลาง (26 ก.ย. 2561)ในคดีหมายเลขดำที่ 1615/2557 และหมายเลขดำที่ 498/2559 ระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (ผู้ร้องคดี) และ บมจ.ทีโอที (ผู้คัดค้าน) ที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ “ทรู” จ่าย 1,217 ล้านคืนให้กับทีโอที พร้อมดอกเบี้ย 7.5% เนื่องจากเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้ที่เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ประจำที่ในเขตนครหลวง 2.6 ล้านเลขหมาย เนื่องจากเห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตฯไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมติ ครม. 28 ม.ค. 2546 และ 11 ก.พ. 2546 ไม่ใช่มติที่ต้องห้ามตามที่อนุญาโตฯได้วินิจฉัยไว้ ส่งผลให้ “ทรู” ไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้ทีโอที

ย้อนกลับสู่ต้นเหตุแห่งข้อพิพาทนี้มาจากมติคณะรัฐมนตรีที่ 28 ม.ค. 2548 และ 11 ก.พ. 2546 ระบุให้เอกชนผู้รับสัมปทานสรุปยอดเงินที่ต้องจ่ายภาษีให้ภาครัฐเจ้าของสัมปทานทุกเดือน เพื่อให้ภาครัฐคืนเงินภาษีสรรพสามิตให้เอกชนเพื่อนำไปชำระค่าภาษีแต่ต่อมารัฐบาลยุค คมช. (23 ม.ค. 2550) ให้ยกเลิกมติดังกล่าว โดยให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายเสียภาษีสรรพสามิตเอง

ขณะที่ “ทีโอที” ได้คำนวณส่วนแบ่งรายได้ใหม่ และพบว่าตั้งแต่ ม.ค. 2546-ธ.ค. 2549 ทีโอทีนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ “ทรู” เกินกว่าสิทธิที่ควรจะได้ 1,479 ล้านบาท จึงแจ้งให้ส่งคืน และยื่นคำเสนอข้อพิพาท โดยอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า

“การที่ ครม.มีมติเมื่อ 28 ม.ค. 2546 และ 22 ก.พ. 2546 ให้ทรูไม่ต้องนำเงินไปชำระภาษีสรรพสามิต แต่ให้หักจากส่วนแบ่งรายได้ของทีโอที ทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของทีโอทีลดลง แต่ส่วนแบ่งรายได้ของ “ทรู” ยังเท่าเดิม มติดังกล่าวจึงขัดต่อ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และเป็นมติที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่งผลให้มติ ครม.ดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ถือเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้ที่เกินกว่าสิทธิที่ทรูพึงจะได้”

กว่า 10 ปีผ่านไป แต่ก็ยังไม่สิ้นสุดเพราะแหล่งข่าวระดับสูงของ “ทีโอที” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา เพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ยังมีคดีที่เป็นผลพ่วงของสัมปทานระหว่าง “ทีโอที-ทรู” ที่อยู่ในกระบวนการของอนุญาโตฯและชั้นศาลอีก 10 กว่าคดี ซึ่งทั้งหมดจะมีศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด เนื่องจากไม่ว่าอนุญาโตฯจะตัดสินมาอย่างไร

คู่กรณีฝ่ายที่แพ้ก็จะยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตฯทุกครั้ง ทำให้แต่ละคดีใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีถึงจะสิ้นสุด

อย่างล่าสุดคือ คำชี้ขาดอนุญาโตฯที่ให้ “ทรู” ต้องจ่าย 9.4 หมื่นล้านบาทให้ “ทีโอที” เนื่องจากนำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) และยินยอมให้ผู้อื่นใช้ด้วยโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเมื่อกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาทาง “ทรู” ได้ยื่นศาลปกครองให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคดีที่ข้อพิพาทมีมูลค่าสูงที่ยังไม่ได้ข้อยุติ อาทิ กรณีที่ทรูฟ้องว่าทีโอทีคำนวณส่วนแบ่งรายได้ค่าโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศไม่ถูกต้องเมื่อ ม.ค. 2548 จำนวน 8,407.68 ล้านบาท ซึ่งเมื่อ พ.ย. 2560 อนุญาโตฯได้มีคำชี้ขาดให้ยกข้อเรียกร้องของทรู แล้วยังมีกรณีที่ทรูยื่นฟ้องเรียกส่วนแบ่งจากค่าโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศที่ทีโอทีได้รับจากแคทอีก 1,968.70 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นมูลหนี้ที่ยังไม่รวมดอกเบี้ย


“น่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า5 ปีจากนี้ถึงจะประเมินได้ว่า เบ็ดเสร็จแล้วตลอด 25 ปีของสัมปทานที่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด 239,000 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนแบ่งรายได้ของทีโอที 41,000 ล้านบาท หรือ 16% ตามสัญญา เป็นส่วนของทรู 190,000 ล้านบาท ใครกำไร ใครขาดทุน”