ลดขยะดอกไม้กับ HelpUsGreen

photo : www.helpusgreen.com

สตาร์ตอัพ “ปัญหา ทำ “เงิน”

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

คนอินเดียเวลาไปวัดก็เหมือนคนไทย คือ ต้องมีถวายพวงมาลัยเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ของเขาอาจจะหนักมือสักหน่อย เพราะแต่ละปีมีการทิ้งดอกไม้สดที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาลงแม่น้ำถึง 800 ล้านตัน

เหตุที่ไม่ทิ้งลงถังขยะ ก็เป็นเพราะมันเป็นดอกไม้ที่นำมาถวายองค์เทพน่ะสิ เลยไม่มีใครกล้าทิ้งมั่วซั่ว กลัวจะเป็นการหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทางออกที่ง่ายสุดเลยไปลอยลงแม่น้ำคงคาเสียเลย เพราะถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน

ทิ้งกันขนาดนี้ แม่น้ำก็เละน่ะสิคะ

พระเอกของเรา คือ สตาร์ตอัพชื่อว่า HelpUsGreen ก่อตั้งโดย อันกิต อะกาวัล ในปี 2015 เพื่อนำดอกไม้เหล่านี้ไปรีไซเคิลให้เป็นสินค้าที่นำกลับมาใช้ในพิธีต่าง ๆ ได้อีกครั้ง เช่น ธูปหอม หรือสบู่ชำระร่างกายก่อนทำพิธี

ตอนแรกที่อันกิตติดต่อขอดอกไม้จากวัดไปรีไซเคิลก็โดนชาวบ้านต่อต้าน ต้องอธิบายกันยกใหญ่ว่า เขาไม่ได้เอาดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์นี้ไปปู้ยี่ปู้ยำเหมือนเศษขยะทั่วไป แต่จะดูแลอย่าง “ให้เกียรติ” และจะชุบชีวิตให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง

เพื่อเป็นการต่างตอบแทน อันกิตจึงจ้างหญิงในชุมชนให้มาทำหน้าที่จัดเก็บและคัดแยกดอกไม้ ทำให้มีรายได้มากขึ้น จากปกติได้แค่วันละ 10 รูปี หรือ 5 บาท ก็เพิ่มเป็นวันละ 150 รูปี

เงินแค่นี้คนทั่วไปอาจดูไม่มาก แต่สำหรับผู้หญิงเหล่านี้ที่อยู่ล่างสุดของพีระมิดในสังคม มันหมายถึงการมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก เพราะนอกจากจะหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้แล้ว ยังทำให้มีสิทธิ์มีเสียงในบ้านมากขึ้นด้วย (บางคนหาเงินได้มากกว่า สามีเลยไม่กล้าหือ)

อันกิตยังพบว่าหีบห่อบรรจุธูปหอมก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านไม่กล้าทิ้ง เพราะส่วนมากจะมีรูปองค์เทพแปะหราอยู่ด้านหน้า สุดท้ายถ้าไม่สุมไว้ใต้ต้นไม้ในวัดก็นำไปโยนลงแม่น้ำคงคาอีก

เขาเลยผลิตกระดาษรีไซเคิลชนิดพิเศษที่ผสมเมล็ดใบกะเพราลงไปด้วย (seed paper) นำมาใช้เป็นซองบรรจุธูปหอม เมื่อใช้ธูปหมดแล้ว ชาวบ้านสามารถนำซองเหล่านี้มาฝังดิน รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดกะเพราก็จะงอกเงยมาให้ใช้

ไอเดียบรรเจิดขนาดนี้ ทำให้ทุกวันนี้บริษัทของอันกิตขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการจ้างงานหญิงชาวบ้านในชุมชนกว่า 1,200 คน จับเก็บดอกไม้สดได้ถึงวันละ 7.2 ตัน จากวัดต่าง ๆ กว่า 30 แห่ง

สินค้าก็หลากหลายมากขึ้น เช่น เริ่มแตกไลน์ทำธูปหอมเพื่อผ่อนคลายที่ทำจากดอกไม้และใบกะเพรา จุดให้บ้านหอมยังไล่แมลงได้ด้วย (เลือกใช้กะเพราค่อนข้างเยอะ เพราะชาวฮินดูในอินเดียยังถือว่า กะเพราเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์)

และบริษัทยังเป็นเจ้าแรกที่ริเริ่มผลิต florafoam หรือโฟมที่ทำจากดอกไม้ ที่ใช้แทนภาชนะที่ทำจากโฟมทั่วไป (ตอนนี้ทำขายเฉพาะลูกค้าองค์กรเท่านั้น)

อันกิตบอกว่า นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเขาตั้งเป้าจะเพิ่มปริมาณการจัดเก็บดอกไม้ให้ได้เป็นวันละ 50 ตัน ภายในปี 2020 พร้อมทั้งขยายบริการไปยังเมืองอื่น ๆ ตลอดแม่น้ำคงคา

และหากมีโอกาสก็จะนำโมเดลนี้ไปต่อยอดในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างบังกลาเทศ และเนปาล ที่มีปัญหาขยะดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกันด้วย