กสทช.บีบ”ดีแทค”เข้าประมูลคลื่น 900 MHz ขู่ยื่นอุทธรณ์ตัดสิทธิ์เยียวยาสัมปทาน !

(แฟ้มภาพ) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

“กสทช.” ขู่ “ดีแทค” ไม่ยื่นประมูล 900 MHz ก่อนเที่ยง 16 ต.ค. ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกรณีเยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทานแน่ ฟาก “ดีแทค” ย้ำสนใจเข้าประมูลแต่ต้องรอบอร์ด เหตุวงเงินสูง ฟาก “วงใน” ชี้แค่เทคนิคยื้อเวลา ถ้า กสทช.โดนเทอีกรอบงานเข้าชัวร์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากนางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2561 ว่า ขอใช้สิทธิ์ขยายเวลายื่นคำขอเข้าประมูลออกไปอีก 7 วัน เนื่องจากต้องรอให้ที่ประชุมบอร์ดดีแทค และเทเลนอร์ อนุมัติ

“ซีอีโอเขายืนยันว่าต้องการประมูลคลื่น 900 MHz แต่กระบวนการอนุมัติของบอร์ดจะอยู่ในเช้าวันที่ 16 ต.ค. ซึ่งตรงกับวันสุดท้ายที่ กสทช.จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองที่ให้สิทธิ์คุ้มครองดีแทค ได้เข้าสู่ช่วงการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานพอดี ฉะนั้นถ้าเที่ยง 16 ต.ค. ยังไม่มายื่นประมูล สำนักงาน กสทช.จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดทันที และในวันที่ 10 ต.ค. จะขอมติบอร์ด กสทช.ให้อนุมัติดำเนินการไว้ล่วงหน้า”

สำหรับลูกค้าภายใต้สัมปทานดีแทคคงเหลือที่บริษัทแจ้งมาล่าสุด ณ 30 ก.ย. 2561 มี 256,060 เลขหมาย แบ่งเป็นผู้ใช้แบบรายเดือน 151,173 เลขหมาย แบบเติมเงิน 104,887 เลขหมาย ซึ่งมีเงินคงค้างในระบบ 10,387,589.26 บาท

“การยืดเวลายื่นประมูลออกไป ทำได้ตามกฎการประมูล และจะเคาะราคาวันที่ 28 ต.ค. 2561 ในแง่ราคาอาจมองว่าแพง แต่ถ้าจะประกอบกิจการต่อไปก็ต้องประมูลคลื่น ซึ่ง กสทช.อยากทำงานร่วมกันกับดีแทคไปนาน ๆ มี 3 ค่ายในตลาดต่อไป”

รายงานข่าวแจ้งว่า หลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นครั้งนี้ได้ปรับปรุงใหม่ หลังจาก กสทช.เปิดให้ยื่นคำขอเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ไปเมื่อ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดเข้าประมูล โดย “ดีแทค” ระบุว่าต้องการคลื่นย่านต่ำ ทางสำนักงาน กสทช.จึงนำคลื่น 900 MHz ออกมาประมูล โดยเปิดให้ยื่นคำขอเข้าประมูลอีกครั้งเมื่อ 8 ส.ค. 2561 แต่ปรากฏว่าไม่มีค่ายมือถือรายใดเข้าประมูล ซึ่ง “ดีแทค” ชี้แจงว่ากังวลเงื่อนไขการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวน และขอให้เปิดระบบบนคลื่น 850 MHz ตามสัมปทานเดิมไปก่อนในระหว่างที่ติดตั้งอุปกรณ์บนโครงข่ายใหม่ ซึ่ง “กสทช.” ก็ปรับปรุงและเปิดให้ยื่นคำขอเข้าประมูล 9 ต.ค.ที่ผ่านมาแต่วันที่ 8 ต.ค. ดีแทคได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า จะยังไม่ยื่นคำขอเข้าประมูลวันที่ 9 ต.ค. เพราะการเข้าประมูล ที่มีมูลค่าสูงถึง 3.79 หมื่นล้านบาทนั้น จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และเงื่อนไขหลักเกณฑ์ปลีกย่อยอย่างรอบคอบ แต่ยืนยันว่าจะตัดสินใจภายใน 16 ต.ค.

ขณะที่ “เอไอเอส” และ “ทรู” แจ้งยืนยันว่า ไม่เข้าประมูลแน่นอนเพราะมีคลื่นเพียงพอแล้ว

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การตัดสินใจของดีแทคเป็นเทคนิคยื้อเวลาเพื่อให้ยืดช่วงเวลาหลังสิ้นสุดสัมปทานออกไปให้มากที่สุด เช่นเดียวกับที่ดีแทคยังไม่จ่ายเงินประมูลคลื่น 1800 MHz งวดแรก เนื่องจากหากจ่ายเงินงวดแรกพร้อมได้รับใบอนุญาตจะทำให้สิทธิ์ในการใช้คลื่นตามสัมปทานจะสิ้นสุดลงทันที จะใช้คลื่นได้เท่ากับที่ชนะประมูลไป 5 MHz เท่านั้น

“ถ้าดีแทคไม่เข้าประมูลครั้งนี้อาจบ่งบอกถึงทิศทางธุรกิจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าเทเลนอร์จะไม่ลงทุนในไทยแล้ว รวมถึงความเชื่อมั่นของลูกค้า และความสัมพันธ์กับภาครัฐ เพราะในการพบกันของซีอีโอใหม่ของดีแทคกับนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีการถามถึงเรื่องการลงทุนในไทย ทั้งยังกระทบสถานะของ กสทช.ชุดนี้ด้วย เพราะเริ่มมีการพูดกันว่า ผลงานไม่เป็นที่พอใจในสายตารัฐบาล”