นับหนึ่ง “เรียกคืนคลื่น” ก้าวย่างท่ามกลางผลประโยชน์

เป็นอีกเวทีประชาพิจารณ์ของ “กสทช.” สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่เต็มไปด้วย “คำถาม” และ “การทวงสิทธิ์” สำหรับร่างประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น

โดยผู้ที่ให้ความเห็นมากที่สุดคือ “บมจ.อสมท” ซึ่งมีคลื่น 2600 MHz ที่มักถูกระบุจาก “กสทช.” ว่า น่าจะเรียกคืนมาจัดสรรใหม่เป็นอันดับต้น ๆ โดยมีทั้งผู้บริหารปัจจุบันอย่าง “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และอดีตผู้บริหารรวมถึงอดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ มาร่วม รองลงไปคือ โอเปอเรเตอร์ที่ทำสัญญาเป็นพันธมิตร “ขายส่ง-ขายต่อ” กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ซึ่งจะกระทบอย่างแน่นอนหากทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจถูกเรียกคืนคลื่นความถี่

“ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” รองเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ปัจจุบันได้จัดสรรคลื่นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการโทรคมนาคมแล้ว 420 MHz ขณะที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ระบุว่า ปริมาณคลื่นที่เพียงพอควรอยู่ที่ 885-1177 MHz จึงได้มีการยกร่างประกาศฉบับนี้ขึ้นมาบนพื้นฐานของ 1.ให้นำคลื่นมาใช้ประโยชน์สูงสุด ให้เหมาะสมกับการใช้งานและนวัตกรรมใหม่ที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 2.กระบวนการโปร่งใสในการตรวจสอบการเรียกคืนคลื่นและมูลค่าการชดเชย 3.สิทธิ์ของผู้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่น

โดยหลังจากประกาศใช้แล้ว ต้นปี 2562 จะเริ่มให้สถาบันวิจัยทำรายงานวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่ และประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่น โดยอาจจะใช้การ “ทดแทน” ด้วยคลื่นอื่น “ชดใช้” ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงินหรือประโยชน์อื่น “จ่ายค่าตอบแทน” ในการเสียโอกาสใช้คลื่น

“แต่เกณฑ์นี้จะไม่ใช้กับการคืนคลื่นโดยสมัครใจหรือสิ้นสุดสิทธิ์ในคลื่นตามกฎหมายอื่น การถูกเรียกคืนเพราะสิ้นสุดเหตุผลและความจำเป็นในการใช้คลื่นหรือสัญญาสิ้นสุด”

ด้าน อสมท “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ร่างประกาศนี้กรอบอำนาจของคณะกรรมการที่หลวมมากเกินไป จนอาจทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบได้ เพราะความคุ้มค่า เป็นสิ่งที่วัดได้ยาก ทำให้เกิดความลำเอียงได้ ดังนั้น กสทช.ควรปล่อยให้เป็นอำนาจของกลไกการตลาดมากกว่า ขณะที่สิทธิ์ในการคืนคลื่นที่แต่ละหน่วยงานได้มานั้น ได้มาก่อนที่จะมี กสทช.เกิดขึ้นเสียอีก และเป็นสิทธิ์ที่มีมูลค่าด้วยตนเอง ดังนั้น กสทช.ควรพิจารณาถึงมูลค่าในสิทธิ์ด้วย ไม่ใช่แค่ค่าเสียโอกาสในการเรียกคืนคลื่นอย่างเดียว เพราะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการและรัฐ

“นิคม ณ พัทลุง” อดีตประธานสหภาพแรงงาน บมจ.อสมท กล่าวว่า ตามนิยามของประกาศนี้ จะทำให้คลื่นในมือรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเข้าข่ายถูกเรียกคืนได้

“ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าหมายถึงต้องเทียบกับเอกชนที่นำออกไปประมูลโทรคมนาคมหรือไม่ ไม่คัดค้านการเรียกคืนคลื่น แต่ช่วยเยียวยาให้ยุติธรรมกับผู้ถือหุ้น อสมท ที่มีกว่าหมื่นคนด้วย”

ขณะที่ “ภัทรินทร์ ภัทระศิขริน”ผู้แทนจาก บมจ.ทีโอที ระบุว่า การเรียกคืนคลื่นเป็นเรื่องใหญ่ ควรมีกระบวนการที่จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะเป็นย่านไหนเมื่อไร ควรใส่ไว้ในประกาศด้วย กำหนดเป็นวิธีการกรอบเวลาขั้นตอนเงื่อนไข เพื่อให้แต่ละหน่วยงานรู้ว่า มีความเสี่ยงในการถูกเรียกคืนมากแค่ไหน ที่สำคัญ ควรกำหนดวิธีโต้แย้งรวมถึงกรอบเวลาด้วย

“ปิยบุตร พรหมรุ่งเรือง” ผู้แทนจาก บมจ.ไทยคม ระบุว่า ควรจะเปิดให้มีการเรียกข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากฝั่งผู้ถือครองคลื่นเดิมด้วย เพราะข้อมูลจากผู้ได้ผลกระทบจะถูกต้องที่สุด

“พิชิต แก้วมาคูณ” บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต กล่าวว่า การประเมินมูลค่าคลื่น เมื่อเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย จึงควรเปิดให้สำนักงาน กสทช.จ้างองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาทำงานส่วนนี้ได้ เพื่อให้ได้มุมมองการเรียกคืนคลื่นที่หลากหลายขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีการจ้างแล้ว

ขณะที่ “วิชช์ จีระแพทย์” ผู้แทนจากสำนักงานอัยการ กล่าวว่า พื้นฐานของการพิจารณาคือ คลื่นความถี่เป็นของชาติ เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของใครโดยเฉพาะ

“จริง ๆ ถ้าผู้ถือครองเดิมไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เมื่อเรียกคืนก็ไม่ควรจ่ายแม้แต่บาทเดียว อย่าไปสนใจผู้ถือหุ้น หรือการทำสัญญาเป็นนิติกรรมอำพรางไว้ เหมือนเช่นกรณีมีที่ดินเปล่าแต่ปลูกกล้วยไว้ 10 ต้น ก็อ้างว่าใช้ประโยชน์แล้ว หรือเอาไปให้คนอื่นทำธุรกิจแทน เช่นไปใช้ให้บริการแบบขายส่งก็ไม่ควรจะได้รับการชดเชย”