ทีโอทีชงบอร์ดดีอีขอพันล้าน เร่งอัพเกรดโทร.พื้นฐานรับเบอร์ 10 หลัก

ลุ้นบอร์ดดีอีชี้ชะตาทีโอที หลังซุ่มขอพันล้านบาทอุดหนุนเพิ่มเบอร์บ้านเป็น 10 หลัก ปั้นโมเดลใหม่อัพเกรดโครงข่าย NGN ให้ทัน 1 ม.ค. 2564 ตามมติ ครม. ฟาก “กสทช.” ชี้เลขหมายโทรคมนาคมเหลือน้อยจัดสรรได้อีกไม่กี่ปี เบอร์ 02 เหลือแค่ 2 แสนเลขหมาย ย้ำต้องลงทุนเพื่ออนาคต แถมลดปัญหาโทร.ข้ามประเทศ ซ้ำยังเป็นผลดีกับทีโอทีให้มีบริการหลากหลาย

แหล่งข่าวภายในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บมจ.ทีโอทีเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 11 ต.ค.นี้ พิจารณาเงินสนับสนุนการลงทุนปรับปรุงโครงข่ายเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ (fixed line) ให้รองรับการเพิ่มจากเบอร์ 9 หลักเป็น 10 หลัก ภายใต้วงเงิน 1,000 ล้านบาท ตามที่มติบอร์ดดีอี เมื่อ 6 ก.ย. 2560 และมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 12 ธ.ค. 2560 ได้มอบหมายให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ม.ค. 2564

หั่นเวลาลงทุน-รัฐต้องซับซิไดซ์

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แรงกดดันที่สำคัญของทีโอทีตอนนี้ คือ การปรับเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ตามนโยบายรัฐบาล และการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ชุมสายของโทรศัพท์ประจำที่ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งาน เพราะใช้งานมากว่า 25 ปีแล้ว ซึ่งมีกว่า 90% ของทั้งหมด 3 ล้านเลขหมาย ที่จะต้องเร่งเปลี่ยน โดยรวมถึงโครงข่ายที่ได้รับคืนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หลังสิ้นสุดสัมปทานด้วย

“ถึงเวลาที่ต้องยกเครื่องใหญ่ อย่างในส่วนที่ต้องปรับโครงข่ายโทรศัพท์ทั้งหมด คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 6-7 พันล้านบาท จึงได้วางแผนทยอยลงทุนไปจนถึงปี 2568 ซึ่งเป็นปีที่หลายโอเปอเรเตอร์ทั่วโลกประกาศให้เป็นปีที่สิ้นสุดการให้บริการ PSTN (public switched telephone network) แต่ถ้า กสทช.เร่งให้เปลี่ยนระบบให้รองรับการเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานจาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ให้ทันต้นปี 2564 ก็ต้องเร่งลงทุนให้เร็วขึ้น ซึ่งทีโอทีเองทำคนเดียวไม่ไหว จึงต้องขอให้รัฐบาลช่วยอุดหนุน ซึ่งเดิมขอไป 7,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ได้ไปหาโมเดลใหม่ที่จะให้รัฐซับซิไดซ์น้อยลง แล้วทีโอทีก็ทำงานได้เร็วขึ้น แต่รายละเอียดไว้รอบอร์ดดีอีอนุมัติก่อนค่อยเปิดเผย”

สำหรับรายได้จากบริการ fixed line ของทีโอที จะอยู่ที่ราว 8,000 ล้านบาทต่อปี มีลูกค้ารวมราว 3 ล้านราย (ทีโอที 2.3 ล้านราย รับโอนจากสัมปทาน บมจ.ทีทีแอนด์ที 3 แสนราย และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น อีก 8 แสนราย) แต่มีแนวโน้มรายได้ลดลงราว 7% ต่อปี ตามเทรนด์ของเทคโนโลยี

เปลี่ยนเป็น NGN ดีกับทีโอทีเอง

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยจิตร รองเลขาธิการ สายงานโทรคมนาคม กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงาน กสทช.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ถึงแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวของประเทศไทยที่จะทำให้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 จำนวนเลขหมายโทรศัพท์ในประเทศไทยทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และประจำที่ (fixed line) จะมีจำนวน 10 หลักเท่ากันทั้งหมด

โดย บมจ.ทีโอทีจะปรับปรุงโครงข่ายเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน เป็นโครงข่าย NGN (next generation network) ซึ่งจะรองรับการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น และใช้เลขหมายโทรคมนาคมอย่างคุ้มค่า เพียงพอกับการใช้งาน

“ทีโอทีมักจะระบุว่า การลงทุนครั้งนี้เพื่อไปเพิ่มจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้พอใช้ แต่จริง ๆ โครงข่ายเดิมของทีโอทีก็ไม่รองรับเทคโนโลยีใหม่แล้ว ปัจจุบันแค่จังหวัดติดกันยังต้องเสียค่าโทร.ข้ามพื้นที่ เป็นความไม่เท่าเทียมในมาตรฐานบริการที่ประชาชนควรจะได้รับ หรือแม้แต่จะย้ายพื้นที่ใช้งานข้ามเขตก็ทำไม่ได้”

เพิ่มเบอร์มือถือผลกระทบเยอะ

ที่สำคัญ คือ จะยุติความสับสนในการใช้งานเลขหมายโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่ปัจจุบันกด โทร.เข้าเบอร์ fixed line อยู่ที่ 9 หลัก แต่เบอร์มือถือต้อง 10 หลัก ซึ่งหากจะแก้ปัญหาเลขหมายไม่เพียงพอด้วยการเพิ่มเบอร์มือถือให้เป็น 11 หลัก ยิ่งทำให้คนสับสน กระทบ 120 ล้านเลขหมาย แต่ fixed line มีแค่ราว 2 ล้านกว่าเลขหมายเท่านั้น

การเพิ่ม fixed line เป็น 10 หลัก จะเป็นการเพิ่มเลข 1 หลังเลข 0 อาทิ หากเป็นเลขหมายในกรุงเทพมหานคร จะเป็น “012-xxx-xxxx” ซึ่งจะทำให้มีเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่เพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านเลขหมาย รวมเป็นในระบบทั้งหมด 100 ล้านเลขหมาย ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเพิ่มขึ้น 500 เลขหมาย

02 กรุงเทพฯเหลือ 2 แสนเบอร์

แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช.เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 สำนักงาน กสทช.ได้จัดสรรเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ทั้งสิ้น 20,455,000 เลขหมาย บมจ.ทีโอทีถือครอง 16,926,000 เลขหมาย (82.75%) โดย 47.82% ใช้งานในกรุงเทพฯและปริมณฑล (รหัสพื้นที่ 02) ส่วนเลขหมายคงเหลือในระบบให้จัดสรรได้อีก 29,545,000 เลขหมาย แต่ถ้าเป็นรหัสพื้นที่ 02 จะเหลือว่างแค่ 219,000 เลขหมายเท่านั้น

“หากมีการปรับเปลี่ยนเบอร์พื้นฐานเป็น 10 หลัก ได้ทันในปี 2564 จะทำให้มีเลขหมายในระบบเพิ่มขึ้นจาก 50 ล้านเลขหมายเป็น 100 ล้านเบอร์ ก็จะแก้ปัญหาเลขหมายขาดแคลนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล”

ขณะที่เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 สำนักงาน กสทช. จัดสรรไปทั้งหมด 171,503,599 เลขหมาย มีผู้ใช้งาน 122,069,663 เลขหมาย เหลือว่าง 34,869,734 เลขหมาย ขณะที่ยอดเลขหมายที่เปิดใช้บริการแต่ละเดือนในปี 2560 อยู่ที่ 4,290,418 เลขหมาย ส่วนเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 4,099,726 เลขหมาย ลดลง 4.44%


“เมื่อประเมินจากเบอร์เปิดใหม่กับจำนวนเลขหมายที่เหลือว่าง ก็จะมีเบอร์เพียงพอในการจัดสรรอีกไม่กี่ปี แต่เมื่อดูจำนวนเบอร์ที่มีการยกเลิกการใช้งานต่อเดือนเฉลี่ยในปีนี้อยู่ที่ 3,289,752 เลขหมาย ก็พอจะยืดเวลาไปได้ แต่เมื่อเทียบปีต่อปีแล้ว จำนวนเบอร์ที่ยกเลิกเฉลี่ยต่อเดือนมีแนวลดลง การเตรียมหาเบอร์ใหม่มาจัดสรรจึงยังจำเป็นมาก”