ส่องแผนปรับปรุงคลื่น ใครเสี่ยงโดนเรียกคืน-จัดสรรใหม่

แม้ว่าตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะให้อำนาจ กสทช. พิจารณา “เหตุผลแห่งความจำเป็น” ในการใช้งานคลื่นและ “เรียกคืนคลื่นโดยกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน” 

แต่ 7 ปีผ่านไปก็แทบจะเรียกคืนคลื่นไม่ได้ เพราะทุกมติที่มีคำสั่งก็ยืดเยื้อถึงชั้นศาล อาทิ มติเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จากกรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่ ก.พ. 2557 ศาลปกครองกลางเพิ่งมีคำพิพากษาเมื่อ ก.ย. 2561 ให้ต้องคืนคลื่น

ล่าสุดเตรียมออกประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ซึ่งในเวทีประชาพิจารณ์ทุกครั้งก็ชัดเจนว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย และสิ่งที่บรรดาเจ้าของคลื่นเดิมกังวลใจ คือ “ใครบ้างที่เข้าข่าย”

แม้รองเลขาธิการ กสทช. “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” จะย้ำว่า ยังไม่ได้มีการกำหนดว่า จะเรียกคืนย่านใด แต่การใช้คลื่นก็ต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ และข้อตกลงที่ไทยทำไว้กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เพื่อให้เป็นแนวทางสากล

ขณะที่แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเร็ว ๆ นี้จะมีการเปิดประชาพิจารณ์แผนการเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทบริหารคลื่นฉบับใหม่ที่กำลังยกร่างขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะประกาศใช้เมื่อใด แต่ปัจจุบันก็มีแผนปรับปรุงย่านความถี่ที่ต้องทำตามข้อตกลงกับ ITU อยู่แล้ว ซึ่งคลื่นในกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีการเรียกคืนเพื่อปรับการใช้งานใหม่ เนื่องจากปัจจุบันไม่ใช้งานตามประเภทที่ ITU กำหนด

โดยแบ่งได้เป็น 8 กลุ่ม ซึ่งมีกลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่ม “T-P1” เป็นย่าน 526.5 KHz ถึง 1606.5 KHz ซึ่งปัจจุบันสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในไทยใช้งานอยู่ 506 สถานี แบ่งเป็น FM 313 สถานี และ AM 193 สถานี มีทั้งหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจถือครอง อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพบก โดยมีทั้งที่จัดรายการออกอากาศเอง และให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ

กลุ่ม “T-P4” ซึ่งมีหลายย่านความถี่สำคัญ อาทิ ย่าน 470 MHz ถึง 510 MHz ที่ปัจจุบันใช้สำหรับวิทยุสื่อสารในกว่า 80 หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย ย่าน 510 MHz ถึง 790 MHz ปัจจุบันช่องทีวีแอนะล็อกบางส่วนและทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ ย่าน 806 MHz ถึง 960 MHz ใช้งานกับระบบโทรคมนาคมทางราง อุปกรณ์ RFID (radio frequency identification) และ IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์)

กลุ่ม “T-P6” ย่าน 1427 MHz ถึง 1518 MHz อยู่ในการถือครองของ บมจ.ทีโอที ซึ่งใช้สำหรับให้บริการโทรศัพท์ทางไกลชนบท

กลุ่ม “T-P7” ย่าน 2300 MHz ถึง 2400 MHz ปัจจุบัน บมจ.ทีโอทีใช้งานร่วมกับ “ดีแทค” ตามสัญญาพันธมิตรธุรกิจไร้สาย และยังมีหน่วยงานความมั่นคงใช้งานอยู่ในบางพื้นที่

กลุ่ม “T-P8” คลื่น 2500 MHz ถึง 2690 MHz มี บมจ.อสมท ถือครองอยู่มากที่สุด และยังมีส่วนของกรมประชาสัมพันธ์กับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสํารวจและผลิต จํากัด

กลุ่ม “T-P9” ความถี่ 50 MHz ถึง 54 MHz มีหน่วยงานความมั่นคงและวิทยุอาสาสมัครใช้งานอยู่ และกลุ่ม “T-P10” คลื่น 174 MHz ถึง 230 MHz ซึ่งทีวีแอนะล็อกใช้งานอยู่

“หลัก ๆ จะเป็นการจัดสรรใหม่เพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคม ยกเว้นย่าน 470 MHz ถึง 510 MHz ที่จะเปลี่ยนจากวิทยุสื่อสารมาให้ช่องทีวีดิจิทัลใช้แทน เนื่องจากคลื่นย่าน 700 MHz ที่ทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ITU กำหนดให้เป็นคลื่นโทรคมนาคมแล้ว”

โดยกรอบเวลาในการเรียกคืนคลื่นเพื่อจัดสรรใหม่ จะมีความชัดเจนหลังจากประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่น มีผลบังคับใช้ในต้นปี 2562 ซึ่งจะมีการตั้งคณะวิจัยศึกษาผลกระทบ และมีการประเมิน “ความคุ้มค่า” ในการใช้งานปัจจุบัน

แต่สำหรับการเรียกคืนคลื่นย่าน 700 MHz จากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะมีกระบวนการเฉพาะแยกต่างหาก เนื่องจากมีเงื่อนไขประมูลช่องทีวีดิจิทัลกำหนดไว้ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ จะเริ่มขึ้นได้เมื่อสัมปทานของ “สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3” สิ้นสุดลงในปี 2563 โดยจะมีการประเมินสิทธิในการเยียวยาที่ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการที่ประมูลช่องได้โครงข่าย รวมถึงผู้บริโภคในกรณีที่ต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ