ธุรกิจเปิดศึกชิงตัวมนุษย์ AI โรดโชว์ตปท.บุกซิลิคอนวัลเลย์ดึงมือดี

ยักษ์ใหญ่เปิดศึกแย่งตัวมนุษย์ AI-Data Scientist ชี้เกมเปลี่ยนแข่งด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี “เคแบงก์-เอสซีบี-กรุงศรี” โรดโชว์ต่างประเทศ ช็อปคนเก่งกลับไทย กสิกรเดินสาย “สหรัฐ-ยุโรป-สิงคโปร์” วางแผนตั้งกองทัพมนุษย์เอไอ 200 คน บุกซิลิคอนวัลเลย์ พ.ย.นี้ กรุงศรีฯ ขยายฐานช็อปคนไทยในจีน “เอไอเอส” ไม่น้อยหน้าดึงทาเลนต์กลับบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มีการปรับตัวรับกับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ (เอไอ) บล็อกเชน

มาสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ว่า องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ มีการเดินสายโรดโชว์ไปต่างประเทศเพื่อดึงคนไทยที่มีความรู้ความสามารถที่ทำงานอยู่ต่างประเทศกลับมาเมืองไทย

3 แบงก์เข้าคิวโรดโชว์แย่งตัว

สำหรับช่วงปลายปี 2561 กลุ่มธุรกิจธนาคารมีคิวโรดโชว์ไปสหรัฐอเมริกาแบบทุกเดือน โดยเมื่อ 24-26 กันยายนที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) นำโดยนายแซม ตันสกุล กรรมการ

ผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด นายวิธพล เจาะจิตต์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรบุคคล และนายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม พบปะกับคนไทยที่ทำงานทั้งบอสตัน-นิวยอร์ก และซานฟรานซิสโก

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร อดีตหัวหน้าทีม ExpresSo ของ ปตท. ที่ปัจจุบันไปนั่งเป็นหัวหน้าทีม SCB10X นำทีมโรดโชว์ควานหาคนเก่งที่สหรัฐอเมริกาเช่นกัน โดยวันที่ 19 ต.ค. 2561 ไปที่ซานฟรานซิสโก, 20 ตุลาคม 2561 เบย์แอเรีย และ 26 ตุลาคม ไปที่นิวยอร์กและช่วง 10-13 พ.ย. 2561 เป็นคิวของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จัดเดินสายไปที่ซิลิกอนวัลเลย์/ซานฟรานซิสโก และซีแอตเทิล โดยมี นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ KBANK พร้อมด้วย นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธานกสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) นำทีมโรดโชว์

KBANK ตั้งกองทัพมนุษย์ AI

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธานกสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้เริ่มเดินสายต่างประเทศเพื่อชักชวนคนไทยที่กำลังศึกษาหรือทำงานด้านเทคโนโลยีให้มาร่วมงาน ตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขาดแคลน ซึ่งไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาทั่วโลก โดยเริ่มจากในอเมริกา ซึ่งคนไทยกลุ่มนี้มีทั้งนักเรียนที่ไปศึกษาต่อ และกลุ่มผู้ที่มีประสบการณ์ทำงาน ซึ่งมีโอกาสใกล้ชิดและทำงานกับคนเก่ง ๆ ระดับโลก มาแบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนไทย

โดยที่ผ่านมากสิกรฯมีการโรดโชว์ปีละ 2-3 ครั้ง ไปที่มหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยเยล รวมถึงหัวเมืองต่าง ๆ

เช่น ซิลิกอนวัลเลย์ ซานฟรานซิสโก และซีแอตเทิล โดยที่ผ่านมาก็ได้ผู้ร่วมงานระดับปริญญาเอก (Ph.D.) 10 กว่าคน และปัจจุบันบริษัทมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านแมชีนเลิร์นนิ่ง ที่ทำงานเกี่ยวกับเอไออยู่ 60 คน และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 200 คนในสิ้นปี 2562

“อย่างไรก็ดี กระบวนการชักชวนทาเลนต์ไทยในต่างประเทศกลับมาทำงานที่ประเทศไทย ไม่ใช่ไปโรดโชว์ครั้งเดียวแล้วจะดึงคนมาได้เลย ต้องเดินทางไปซ้ำ ๆ หลายรอบเพื่อให้เข้าใจว่าธนาคารกำลังทำอะไร และต้องการอะไร ประสบการณ์และความรู้เหมาะสมกับงาน ซึ่งกระบวนการบางคนอาจใช้เวลาเป็นปี เพราะการจะกลับมาทำงานที่ประเทศไทยเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ ต้องพูดคุยหลายรอบ หรือบางทีก็เชิญมาดูสถานที่และบรรยากาศการทำงานจริงที่ KBTG ซึ่งจะไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของแบงก์ และวิธีการของเราไม่ได้ใช้วิธีทุ่มซื้อตัว เพราะเป้าหมายเราต้องการสร้างทีมที่มีมุมมองและเป้าหมายเหมือนกัน”

ประธาน KBTG กล่าวว่า ส่วนใหญ่คนไทยที่ทำงานในต่างประเทศเมื่อจะตัดสินใจกลับมาเมืองไทย สิ่งที่จะกลับมาทำจะสามารถช่วยสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม หรือต่อประเทศได้อย่างไร โดยในเดือน พ.ย.นี้ KBANKและ KBTG ก็จะมีการเดินสายไปอเมริกาอีกรอบ หลังจากเมื่อต้นปีไปมาแล้วหนึ่งรอบ นอกจากนี้ก็ยังมีแผนไปที่ยุโรป และในเอเชียอย่างสิงคโปร์

ทั้งนี้ เมื่อกันยายนที่ผ่านมา KBANK ประกาศตั้ง 2 ฝ่ายใหม่ คือ Enterprise Data Analytics Department (EA) เป็นศูนย์กลางดูแลการสร้างความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของธนาคาร และฝ่าย Digital Lending Department (DL) รับผิดชอบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากหลายฐานข้อมูล เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อตอบโจทย์การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

กรุงศรีฯเดินสายสหรัฐ-ญี่ปุ่น

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ธุรกิจปัจจุบันต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลการทำบิ๊กดาต้า ทำให้มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ไม่ใช่แค่กลุ่มธนาคาร ทำให้คนในประเทศไม่เพียงพอ โดยเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรุงศรีฯได้เดินสายไปที่สหรัฐอเมริกา เพื่อค้นหาคนไทยที่ทำงานหรือเรียนอยู่ที่นั่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และพากลับมาเสริมทัพให้กับธนาคาร เลือกไปที่นั่นเพราะมองว่าสหรัฐเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยคนที่มีทักษะและองค์ความรู้ในด้านที่ธนาคารต้องการ ทั้งยังมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้จะช่วยต่อยอดให้ธนาคารได้เร็วขึ้น วิธีการส่วนใหญ่ก็จะประสานไปทางประธานนักเรียนไทย หรือชุมชนที่มีคนไทยอยู่

สำหรับบุคลากรสาขาที่ต้องการ ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist), วิเคราะห์ข้อมูล (data analytics), ความปลอดภัยทางไซเบอร์, พัฒนาแอปพลิเคชั่นมือถือ, ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และบล็อกเชน ซึ่งจะมองหาเฉพาะคนไทยเป็นหลัก เนื่องจากมีวัฒนธรรมและการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่ายกว่าคนต่างชาติ

นายฐากรกล่าวว่า แม้ว่าในประเทศไทยมีบุคลากรในสาขาดังกล่าว แต่ก็มีจำนวนน้อย และหลายอุตสาหกรรมต่างก็เร่งหาบุคลากรด้านเหล่านี้กันอย่างมาก ทำให้แม้ว่าจะผลิตมามากเพียงใด อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ และคาดว่าในอนาคตโลกธุรกิจทั้งหมดจะกลายเป็น tech company และ data company กันหมด

“รูปแบบก็จะเป็นการเข้าไปพูดคุยว่าธนาคารทำอะไรอยู่ตอนนี้ อธิบายแลนด์สเคปของอุตสาหกรรม ธนาคารโฟกัสที่อะไร และมีความต้องการอะไร เพื่อให้เขารู้และเข้าใจสิ่งที่เราทำ โดยจำนวนคนที่เราต้องการไม่มีจำกัด” นายฐากรกล่าวและว่าปีที่ผ่านมาธนาคารยังได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อตามหาคนเก่งเหล่านี้ เนื่องจากบริษัทแม่ของกรุงศรีฯ (บริษัท มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนลเชียล กรุ๊ป) อยู่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้รู้แหล่งที่จะไปค้นหา และในอนาคตมองว่าจะไปที่ประเทศจีนต่อ เนื่องจากมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่นเดียวกับสหรัฐ แต่อาจจะมีข้อจำกัดคนไทยที่ประเทศจีนไม่ได้มีจำนวนมากเท่า

“AIS” ดึงทาเลนต์เสริมแกร่ง

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาองค์กรหลายแห่งในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติไปโรดโชว์พบปะกลุ่มนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อดึงกลับมาทำงาน รวมถึงเอไอเอส เพราะนอกจากเรื่องภาษาอังกฤษแล้ว องค์กรต่าง ๆ ยังต้องการบุคลากรที่มีความสามารถใหม่ ๆ หลายด้านเข้ามาเสริม เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาองค์กรให้สามารถแข่งขัน และเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคดิจิทัลที่รวดเร็วและรุนแรงมาก

โดยเอไอเอสได้ไปพบกับนักศึกษาไทยที่อังกฤษ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว และครั้งที่สองเมื่อเดือน ก.พ.ปีนี้ โดยสามัคคีสมาคม และสถานทูตไทยในอังกฤษ เป็นผู้จัดงานรวมนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมีการเชิญบริษัทอย่างเอไอเอส, เอสซีบี, ปูนซิเมนต์ไทย ฯลฯ และในเดือน พ.ย.นี้ บริษัทจะไปพบกับนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งครั้งนี้ร่วมกับสถาบันเอ็มไอที และมหาวิทยาลัยสโลน เป็นต้น

“เราทำเรื่องนี้มาประมาณ 2 ปีแล้ว เริ่มจากคุยกับมหาวิทยาลัยที่ร่วมงานด้วย ทั้งที่อเมริกาและยุโรป ในการเข้าไปสร้างคอมมิวนิตี้กับนักเรียนไทย ไปทำความรู้จักและรับสมัครงาน จนในระยะหลังเริ่มเข้าผ่านทางสถานทูต เป็นต้น เด็กกลุ่มนี้เราเรียกกันภายในว่า The Bloom ซึ่งเฟสแรก 14 คน จะเข้ามาทำงานเดือน พ.ย.นี้”

นางสาวกานติมากล่าวต่อว่า ที่ต้องไปหานักศึกษาไทยที่ไปเรียนต่อจากต่างประเทศ เพราะในต่างประเทศมีการเปิดสอนหลักสูตรด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ด้านโรโบติกส์, เอไอ, บิ๊กดาต้า ก่อนประเทศไทยหลายปี จึงมีประสบการณ์มากกว่า แม้แต่ด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น ในต่างประเทศก็ทำมานานแล้ว

“เรายังสร้างดีพาร์ตเมนต์ใหม่ขึ้นมาเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานแบบใหม่ให้เด็กกลุ่มนี้ แล้วนำคนเก่าที่โอเพ่นและมีแพสชั่นด้านเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกัน เพราะเอไอเอสเปรียบได้กับเรือลำใหญ่ ต้องดูแลลูกค้าจำนวนมาก การโฟกัสสิ่งใหม่หรือความสนใจใหม่อาจจะแตกต่างไปจากสิ่งที่เราทำอยู่เดิม จึงควรจะเทสต์ก่อนเพื่อไม่ให้กระทบกับของเดิม”

ตลาดแรงงานเปลี่ยน

นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการอำนวยการ สลิงชอท กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายองค์กรต้องหาคนเก่งเข้ามาทำงานนั้น เนื่องจาก 1) ตลาดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลง เพราะอัตราการเกิดของเด็กน้อยลง 2) ภาคธุรกิจไม่ได้มีลูกค้า การที่ภาคธุรกิจไทยไปตระเวนหาคนเก่งในต่างประเทศมาทำงาน เพราะแต่ละองค์กรก็ต้องการคนเก่ง มีประสบการณ์ มาพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองในภาวะที่มีการแข่งขันสูง เหมือนเรียนทางลัด แม้ว่าอาจจะจ่ายค่าตอบแทนที่สูงก็ตาม

โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการเงิน มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่เช่นด้าน data scientist นั้น เนื่องจากเรื่องนี้เกิดขึ้นในไทยได้ราว 2-3 ปีเท่านั้น หลักสูตรการเรียนในมหาวิทยาลัยยังไม่แพร่หลายมากนัก ส่งผลให้นักศึกษาไม่ได้มีทักษะการปฏิบัติจริง ขณะที่ต่างประเทศมีการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้แรงงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และเอไอ มีค่อนข้างมากและหลากหลายด้วย