กสทช.ห่วง 5G พ่นพิษทำคนตกงานเพียบ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เมื่อเดือนกันยายน 2561 ระบุว่า การเข้ามาของ 5G ในปี 2020 หรือปี 2563 ทั้งการเกิดการใช้อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือไอโอที และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ จะส่งผลกระทบให้มีกลุ่มบุคคลตกงาน โดยเฉลี่ย 10-30% ซึ่งถือเป็นข้อห่วงใยของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู เพราะแม้เทคโนโลยีจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในกลุ่มของอุตสาหกรรมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่ในส่วนของกลุ่มบุคคลที่ต้องประสบกับปัญหาการตกงาน ภาครัฐบาลจะสามารถเพิ่มองค์ความรู้ให้ได้อย่างไร

นายฐากร กล่าวว่า เมื่อ 5G เข้ามาในประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตใน 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย 1.ภาคการผลิต ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมจะลดการใช้แรงงานในส่วนของภาคการผลิตลง 30-40% 2.ภาคการเงินการธนาคาร โดยธนาคารจะต้องมีการทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และ 3.ภาคการแพทย์ สาธารณสุข ที่จะต้องปิดตัวลงเช่นกัน ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน

“ภาคส่วนที่สำคัญในการผลักดันให้เกิด 5G ได้ คือ รัฐบาลไม่ใช่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอร์เรเตอร์) เพราะโอเปอร์เรเตอร์ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างอาชีพ และ 5G จะเข้ามาสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” นายฐากร กล่าว

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. จะร่วมขับเคลื่อนการเข้าสู่ 5G โดยการสนับสนุนคลื่นความถี่ให้มีราคาเริ่มต้นที่ถูกลง และเปิดประมูลคลื่นความถี่ในย่านต่ำ ยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมัน เกาหลี อิตาลี ที่เปิดประมูลคลื่น

ความถี่ใหม่ที่มีราคาถูกลง ขณะที่ ทั่วโลกใช้วิธีเดียวกัน คือ ประเมินราคาจากทั่วโลก ในการประมูลคลื่นความถี่ โดยรูปแบบการประมูลจะเอาหลายคลื่นมาประมูลพร้อมกัน ซึ่ง กสทช.ยังมีเวลาคิดอีก 2 ปีกว่า

นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะคณะทำงานเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยี 5G เปิดเผยว่า การประชุม International Workshop on the Fifth Generation Mobile Communications Systems (5G) 2018 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เป็นการรายงานความคืบหน้าในการเตรียมการพัฒนา 5G และการทดสอบภาคสนาม รวมถึงการนำเสนอผลการประยุกต์ใช้งานที่เกี่ยวข้องก่อนการเปิดตัวเชิงพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่น ส่วนตัวมองว่า การเตรียมการที่สำคัญทำให้ประชาชนทราบประโยชน์ของ 5G สำหรับแนวทางการวางกฏเกณฑ์ในการใช้คลื่นความถี่กับเทคโนโลยี 5G จะประกอบด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการ คือ 1.การใช้คลื่นความถี่ที่ สหภาพโทรคมนาคม หรือไอทียูกำหนด 2.ใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ 3.ผู้ผลิตอุปกรณ์ (เวนเดอร์) มีการใช้อุปกรณ์สอดคล้องกันหรือไม่

นายเสน่ห์ สายวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารคลื่นความถี่ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านเทคนิค 5G เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานได้มีแผนที่จะทำการทดลองใช้งานเทคโนโลยีระบบ 5G ในปี 2562 ซึ่งคลื่นความถี่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดที่ กสทช.จะนำมาทดสอบระบบ 5G คือคลื่นความถี่ระบบ C-Band ในช่วงย่านความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่จำนวนความจุ (แบนด์วิธ) 100 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ 24000 เมกะเฮิรตซ์ ที่จำนวนความจุ 1000 เมกะเฮิรตซ์

 

ที่มา มติชนออนไลน์