กสทช.ดีใจคลื่น900ขายออก ฟุ้งผลงานปั้นรายได้ส่งรัฐ6.5หมื่นล้าน

“ดีแทค” ยื่นประมูลคลื่น 900 MHz รายเดียว เคาะราคา 28 ต.ค.นี้ หลังได้ 2 เงื่อนไขดั่งใจ ทั้งไม่ต้องลงทุนระบบป้องกันคลื่นรบกวนและได้สิทธิ์ใช้ 850 MHz ต่อ “กสทช.” ย้ำถึงเข้าประมูลรายเดียว แต่ราคาจะขยับเพิ่ม 76 ล้านบาท เบ็ดเสร็จต้องควัก 40,728.48 ล้านบาท วงในชี้ “เอไอเอส-ทรู” เมินเข้าร่วม เหตุมีภาระค่าคลื่นอีกกว่า 8 หมื่นล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อ 16 ต.ค. 2561 บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ได้ยื่นคำขอเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz พร้อมวางเงินประกัน 1,900 ล้านบาทแล้ว ดังนั้น กสทช.จึงตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ที่ให้ดีแทคใช้คลื่นภายใต้สัมปทานต่อได้จนถึง 15 ธ.ค.นี้โดยครั้งนี้จะนำคลื่นออกประมูล 5 MHz ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท แต่ตามกฎการประมูลต้องเคาะราคาเพิ่มอีก 76 ล้านบาท ดังนั้นจะจบประมูลที่ 38,064 ล้านบาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดีแทคต้องจ่ายทั้งหมด 40,728.48 ล้านบาท โดยแบ่งจ่าย 4 งวดคือ งวดแรกภายใน 90 วันหลังประมูล 4,301.4 ล้านบาท กับอีก 2150.7 ล้านบาท ในปีที่ 2 และ 3 ส่วนปีที่ 4 จะจ่ายที่เหลือทั้งหมด

“เมื่อรวมประมูล 1800 MHz เมื่อส.ค. ปีนี้ กสทช.สร้างรายได้เข้ารัฐจากการประมูลแล้ว 65,000 ล้านบาท ก็น่าจะพอแล้ว ส่วน 1800 MHz ที่ยังเหลืออีก 35 MHz ก็จะเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”

ด้านนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ ดีแทค เปิดเผยว่า บริษัทต้องการคลื่นความถี่ย่านต่ำ เมื่อ กสทช.ได้เปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลให้ผู้ชนะไม่ต้องติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวนให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและโอเปอเรเตอร์รายอื่น ทั้งยังเปิดระบบคลื่น 850 MHz ใต้สัมปทานเดิมไปได้อีกไม่เกิน 2 ปีระหว่างที่ดีแทคติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายใหม่ จึงตัดสินใจเข้าร่วมประมูล แม้ว่าราคาคลื่นจะยังแพงมาก แต่ กสทช.ยืนยันว่าไม่สามารถปรับเงื่อนไขตรงนี้ได้แล้ว

ขณะที่แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุที่ทั้งเอไอเอสและทรูไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นครั้งนี้ เนื่องจากทั้งคู่ยังมีภาระที่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นอีกมาก อย่างเอไอเอส ปีนี้ต้องจ่ายถึง 3 งวด โดยเฉพาะปี 2563 แต่ละรายต้องจ่ายกว่า 6 หมื่นล้านบาท กสทช.จึงต้องปรับเงื่อนไขประมูลทุกอย่างเพื่อดึงดูดให้ดีแทคซึ่งมีคลื่นน้อยที่สุดและไม่มีภาระค่าประมูลคลื่นเลย หลังจากจ่ายเงินประมูล 2100 MHz ครบตั้งแต่ปี 2558