กสทช. ย้ำ 5G มาแน่ปี 63 เตรียมแผนรับมือคนตกงานจากดิจิทัลดิสรัปต์

กสทช. เตรียมแผนลุย 5G เร่งทดสอบต้นปี 61 เปิดประมูลคลื่นปี 63 ปักธงคนไทยได้ใช้ 5G แน่ พร้อมวางแผนรับมือคนตกงานจากเทคโนโลยีดิสรัปต์ เผยไอเดียประมูลคลื่น 5G แบบมัลติแบรนด์ มัดรวมทั้งย่านต่ำ-กลาง-สูง จัดแพคเก็จราคาให้โอเปอเรเตอร์รับได้ พร้อมวางแผนซัพพอร์ตค่ายมือถือจูงใจปูพรมโครงข่าย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ครั้งล่าสุดเมื่อเดือน กันยายน 2561 ที่ประเทศฝรั่งเศส มีความกังวลมากว่า เทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายทั่วโลกจะสร้างผลกระทบให้ภาคธุรกิจใช้แรงงานคนน้อยลง ส่งผลให้มีคนตกงานเยอะขึ้น ซึ่งจะกระทบทั้งภาคการผลิต/การเงินการธนาคาร/ภาคสาธารณสุข   จึงเป็นโจทย์ใหญ่ให้รัฐบาลแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยและ กสทช. ต้องมีแผนเตรียมรับมือ

“อย่างรัฐมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ก็มีแผนนี้เข้าไป เพื่อรับมือคนตกงานจากเทคโนโลยี โดยเฉพาะคนอายุมากหน่อยมีปัญหาแน่ เพราะเด็กรุ่นใหม่เกิดมากับเทคโนโลยี จึงควรวิตกกังวลส่วนนี้ควบคู่ไปกับการผลักดัน 5G ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ในประเทศไทยมีเวลา 2ปีกว่า เพราะปักธง 5G ไว้ในปี 2563 โดยจะเริ่มทดสอบในต้นปีหน้า และเริ่มประมูลคลื่นสำหรับ 5G ภายในปี 2563”

การผลักดัน 5G เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ เพราะ 5G จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ภาคการเงินการธนาคารจะได้ประโยชน์มาก ขณะที่ภาคโทรคมนาคมจะไม่ได้ประโยชน์มากนักแต่ต้องใช้เงินลงทุนมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเป็นผู้ผลักดัน ไม่เหมือน4G ที่เป็นความต้องการของเอกชน

“กสทช ก็คงต้องมองว่าจะสนับสนุนยังไง คลื่นต้องราคาถูกลง/การวางโครงข่ายจะช่วยลดภาระเรื่องต้นทุน เรื่องภาษีอย่างไร”

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช.  กล่าวว่าเสริมว่า  ต้องผลักดันให้มีคลื่นพอประมูลในราคาที่ถูกที่สุดแล้วจัดประมูลพร้อมกัน โดยเปิดกว้างที่สุด เป็น “มัลติแบนด์ออกชั่น” เป็นการประมูลหลายคลื่นพร้อมกัน ทั้งคลื่นความถี่ย่านต่ำ ย่านกลาง และย่านสูง ในราคาที่โอเปอเรเตอร์รับได้

“ในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องมีรัฐบาลเข้ามาแทรกแซง แต่ในท้ายที่สุดก็จะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น อย่างฝั่งยุโรปมีการหารือเรื่อง universal basic income ในจีนใช้หุ่นยนต์เยอะมาก มีการเก็บภาษีหุ่นยนต์ในช่วงเริ่มต้น ขณะที่ในญี่ปุ่น ได้เปิดให้เสนอด้วยว่า 5G จะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งที่ญี่ปุ่นไม่ประมูลคลื่น แต่ใช้ไดเร็ค อวอร์ด คือให้กับคนที่มีใบอนุญาตเลย ทำให้จำนวนโอเปอเรเตอร์จะเท่าเดิม โดยกำหนดที่คลื่นย่าน 24GHz และย่าน  C band”