ทีโอทีเร่งหางบอัพเกรดพันล้าน ปรับแผนคงข่ายสายทองแดงรับภัยพิบัติ

ทีโอทีลุ้น “ดีอี” หาทุนซัพพอร์ตพันล้านเปลี่ยนโครงข่ายเบอร์บ้านเป็น 10 หลัก เผยปรับแผนคงข่ายสายทองแดงเดิมไว้รับภัยพิบัติ เปลี่ยนเฉพาะคอร์เน็ตเวิร์ก มั่นใจอัพเกรดทัน 1 ม.ค. 64 คาดไตรมาสแรกปี”62 เริ่มนับหนึ่งได้

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ถอนวาระการของบประมาณสนับสนุนแผนการปรับปรุงโครงข่ายเพื่อรองรับแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาว เพื่อให้รองรับเพิ่มจากเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ (fixed line) จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ออกจากการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่เดิมกำหนดไว้จะให้พิจารณาในการประชุมเมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา

“ได้หารือกับกระทรวงดิจิทัลฯแล้วสรุปว่า เรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องนำเข้าบอร์ดอีก เพราะเคยอนุมัติมาแล้ว ปลัดกระทรวงจะพิจารณาว่าจะใช้งบประมาณจากส่วนใดเข้ามาสมทบได้บ้าง”

จาก 2 หมื่นล้าน เหลือพันล้าน

สำหรับโครงการดังกล่าวการสืบเนื่องจากมติที่ประชุมบอร์ดดีอี เมื่อ 6 ก.ย. 2560 และมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 12 ธ.ค. 2560 ที่จะปรับปรุงโครงข่ายให้เสร็จภายใน 1 ม.ค. 2564 ซึ่งการปรับปรุงนี้จะทำให้เลขหมายโทรศัพท์ในประเทศไทยอยู่ที่ 10 หลักเท่ากันทั้งหมด จากเดิมที่เบอร์มือถือจะเป็น 10 หลัก แต่เบอร์ประจำที่จะเป็น 9 หลัก ทั้งยังทำให้เลขหมายในระบบเพิ่มขึ้นแก้ปัญหาการขาดแคลนเลขหมายโทรศัพท์ได้ โดยเบอร์แบบประจำที่จะอยู่ที่ 100 ล้านเลขหมาย ขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่มี 500 ล้านเลขหมาย

“โครงข่ายเดิมของทีโอทีและที่รับมอบจากสัมปทานมา มีอายุใช้งานกว่า 25 ปีแล้ว ต้องปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ซึ่งวงเงินเดิมที่วางไว้ คือราว 2 หมื่นล้านบาท คือรื้อของเก่าแล้วลงใหม่ทั้งหมด 100% แต่แนวทางใหม่คือจะมีการเปลี่ยนใหม่เฉพาะในส่วนของคอร์เน็ตเวิร์กหลัก และอุปกรณ์อีกบางจุดเท่านั้น จึงได้ตั้งงบประมาณขอรับการสนับสนุนอยู่ที่ราวพันล้านบาท ซึ่งทีโอทีพร้อมเริ่มดำเนินการได้ทันที ขึ้นอยู่กับกระทรวงว่าจะมีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนเมื่อใด ถ้าเงินมาได้เร็วก็เริ่มลงมืออัพเกรดได้ในไตรมาส 1 ปี 2562 แน่นอน”

คงโครงข่ายรับภัยพิบัติ

เหตุที่มีการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน เนื่องจากมีบทเรียนจากภัยพิบัติในต่างประเทศโดยเฉพาะในญี่ปุ่น ที่ทำให้ได้เห็นว่าโครงข่ายสายทองแดงยังมีความจำเป็น ไม่ควรยกเลิกการใช้งานทั้ง 100% เพราะหากนำโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงมาทดแทนทั้งหมด เมื่อเกิดภัยพิบัติไม่มีกระแสไฟฟ้าในวงกว้าง โครงข่ายสื่อสารจะไม่สามารถใช้งานได้ทั้งหมดเช่นกัน แต่ถ้ายังคงส่วนที่เป็นโครงข่ายสายทองแดงไว้ จะยังสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 8 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ เพราะสามารถใช้ไฟจากแบตเตอรี่ในชุมสายใกล้เคียงหล่อเลี้ยงระบบได้เพียงพอ และถ้าเพิ่มอุปกรณ์สแตนด์บายเอ็นจิ้นเข้าไปด้วย ก็จะอยู่ได้อย่างน้อยอีก 16 ชั่วโมง

“แม้จะเป็นโครงข่ายของทีโอที แต่แผนปรับปรุงเดิมจะทยอยแบ่งการลงทุนจนถึงปี 2568 แต่เมื่อ กสทช.ต้องการให้พร้อมใช้ทัน ม.ค. 2564 จึงต้องขอรับการสนับสนุนเพื่อให้ทีโอทีมีภาระน้อยลง”

กสทช.เดินหน้าลุย

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ บมจ.ทีโอทีจะยังไม่ได้เริ่มเปลี่ยนโครงข่าย แต่การปรับเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่เป็น 10 หลัก จะเดินหน้าตามแผนเดิมคือ เริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2564 เนื่องจากได้แจ้งกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ไว้แล้ว และโอเปอเรเตอร์อื่น ๆ พร้อมปรับเปลี่ยนเรียบร้อยแล้ว

แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช.เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 มีเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่คงเหลือในระบบให้จัดสรรได้อีก 29,545,000 เลขหมาย ส่วนที่จัดสรรไปแล้วมีรวมทั้งสิ้น 20,455,000 เลขหมาย บมจ.ทีโอทีถือครองอยู่ทั้งหมด 16,926,000 เลขหมาย หรือ 82.75% รองลงไปคือ บริษัท ทรูอินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น (TICC) 2,585,000 เลขหมาย

บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) 390,000 เลขหมาย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) 314,000 เลขหมาย บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (3BB) 178,000 เลขหมาย นอกนั้นเป็นรายย่อยถือครองราวรายละ 20,000 เลขหมาย

ทรูฯใช้เบอร์มีประสิทธิภาพ

แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของการนำเลขหมายมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (efficiency ratio) พบว่า บริษัท ทรูอินเทอร์เน็ตฯ สามารถใช้เลขหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าบริษัทอื่น โดยมีค่า efficiency ratio ร้อยละ 84.56 (ยิ่งมีค่าร้อยละสูงยิ่งมีประสิทธิภาพ) ขณะที่ บมจ.ทีโอที มีค่า efficiency ratio เพียงร้อยละ 39.63 เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าค่า efficiency ratio ของรายเล็กอย่าง 3BB (ร้อยละ 48.86) และ AWN (ร้อยละ 44.04)