กระทรวงดิจิทัลตั้งคณะทำงาน3ฝ่ายหาทางออกร่าง”พ.ร.บ.ไซเบอร์” ย้ำยังใช้เวลาอีกหลายเดือน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากช่วงเช้า วันที่ 19ต.ค. 2561 ผู้แทนจาก  สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCT)  ได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นผู้รับมอบเอกสารเพื่อแสดงถึงความกังวลต่อร่างกฎหมาย ฉบับที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.

ล่าสุด นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบการจัดตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจหรือตัวแทนฝ่ายเอกชนที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม ซึ่งอาจครอบคลุมถึงนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เพื่อร่วมหารือ พิจารณาข้อขัดข้อง และนำเสนอทางออกร่วมกัน สำหรับร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. ซึ่งได้มีการเปิดรับความคิดเห็น และพบว่าสังคมยังมีความกังวลในบางเรื่อง โดยคาดว่าคณะทำงานชุดนี้จะจัดตั้งได้ภายใน 2 สัปดาห์ คาดหมายว่าแนวทางนี้จะนำไปสู่เป้าหมายที่ทำให้ พ.ร.บ.ไซเบอร์ เป็นที่ยอมรับ

“เมื่อสังคมกำลังกังวลอยู่บางเรื่อง เราก็จะรีบเคลียร์ก่อน ยังไม่นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในระดับต่อไป โดยจะนำความคิดเห็นที่เปิดรับทั้งจากเวทีรับฟังความคิดเห็น และทางเว็บไซต์ ซึ่งประมวลเกือบเสร็จแล้ว และจัดหมวดหมู่ เพื่อนำมาใช้ประกอบการทบทวนร่างกฎหมายที่ทำมา” 

และหลังจากผ่านกระบวนการนำเสนอทางออกร่วมกันของคณะทำงาน3 ฝ่ายข้างต้น จะนำร่าง พ.ร.บ. ไซเบอร์ ที่ผ่านความเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งเวียนขอรับทราบความเห็นของหน่วยงานต่างๆ จากนั้นจึงนำเสนอสนช. ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาอีกหลายเดือน