ส่องอนาคต 5G ในไทย มุมมอง กสทช. “ประเสริฐ”

สัมภาษณ์

เร่งผลักดัน 5G เต็มที่ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกัน (LOI) กับ The Fifth Generation Mobile Communication Promotion Forum (5GMF) แห่งประเทศญี่ปุ่น ณ เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือหนุนให้เกิด 5G ทั้งการประยุกต์ใช้ วิเคราะห์โอกาสและอุปสรรค โอกาสนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ไขสารพัดข้อสงสัยกับ กสทช. “รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์”

Q : การลาออกของ “พ.อ.เศรษฐพงค์” มีผลกระทบกับงานไหม

งานก็เท่าเดิม ในส่วนของโทรคมนาคมท่านประธานลงมาทำ กรรมการที่น้อยลงไม่มีผลอะไร ยังมีอนุกรรมการ 2 ด้าน (ฝั่งโทรคมนาคม-บรอดแคสต์) เว้นแต่จะเหลือกรรมการน้อยกว่า 4 คน

Q : งานที่ต้องทำก่อนมีเลือกตั้ง

ประมูล 900 MHz วันที่ 28 นี้ให้จบ และคุยกับรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมเดินต่อไปได้ เพราะโอเปอเรเตอร์จะไม่มีเงินลงทุนต่อ 900 MHz ก้อนใหญ่ยังไม่ได้จ่ายนะ และอีกไม่กี่ปีจะมี 5G ซึ่งจะต้องลงทุนอีกมาก ตอนนี้มีข้อเสนอให้เทสต์ที่คลื่นย่านสูงมาก 3.4 – 3.7 GHz 4.8 GHz 26 และ 28GHz

Q : เริ่มทดลองเมื่อไร

ปีหน้า โดยความร่วมมือของเวนเดอร์ผู้ผลิตอุปกรณ์ เช่น หัวเว่ย โนเกีย อีริคสัน เป็นความร่วมมือกับเรากับเวนเดอร์และโอเปอเรเตอร์ จะดูว่าการใช้งานมีอุปสรรคอะไร แอปพลิเคชั่นที่เหมาะควรมีอะไร ซึ่งกระทรวงดีอีสนใจเรื่องนี้

Q : มาญี่ปุ่นคาดหวังอะไร

อัพเดตความก้าวหน้า ญี่ปุ่นจะเสนอผลฟิลด์ไทรอัล โชว์แอปพลิเคชั่นว่าเวิร์กไหม เขาใช้คลื่น 3.5 GHz และ 28 GHz

Q : แล้วคลื่นในบ้านเรา

ถ้าไม่มีอุปสรรคเลย คือ ย่าน 24 GHz ส่วน 3.5 GHz ขอ 100 MHz แล้ว 24 GHz ขอ 800 MHz ถึง 1 GHz

Q : ที่ญี่ปุ่นมีประมูลคลื่น 5G

ญี่ปุ่นเขาจะให้ผู้ที่มีใบอนุญาตอยู่เดิมทำได้เลย เพราะถ้าจะทำอะไรที่ผู้บริโภครับภาระ เช่น USO (บริการสาธารณะทั่วถึง) จะโชว์ในบิลค่าบริการให้เห็นเลยฝั่งเราก็คงต้องคิดกันถ้าจะให้เกิดและเป็นประโยชน์กับธุรกิจกับผู้บริโภค ค่าประมูลเริ่มต้นควรจะเท่าไร แต่ฟรีไม่ได้ เว้นแต่จะมีการแก้กฎหมาย

Q : ดีแทคเข้าประมูลต้นทุนทุกรายใกล้เคียงเป็นอุปสรรคการประมูลครั้งใหม่

คงต้องดูความสมดุลระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ขณะที่รัฐบาลก็อยากได้เงิน ซึ่งเป็นเรื่องยาก ต้องศึกษาและคำนวณมูลค่าคลื่นใหม่ว่าที่เขาประมูล 5G คิดยังไง เช่น อิตาลี เพิ่งประมูลไป เขามีสูตร เช่น จำนวนประชากร เมื่อศึกษาเสร็จก็ต้องมาดูกัน

Q : ที่อิตาลีคลื่นไหน

ของอิตาลีใช้คลื่นความถี่ต่ำกับสูงจับคู่กัน ถ้าต้องการให้มีรายใหม่ก็มีสิทธิ ขณะนี้เริ่มมีความคิดประมูลเฉพาะเขต เพราะ 5G ไม่ได้ออกไปนอกเมือง ไม่ต้องลงทุนเยอะ บางรายที่อยากเข้าบอกว่าให้กำหนดเงื่อนไขเฉพาะรายนั้น ๆ ก็ต้องดูว่ารายอื่นหรือผู้เกี่ยวข้องอื่นยอมไหม จะมีปัญหานอมินีหรือเปล่า

Q : มี Nontelco เข้าด้วย

ในต่างประเทศยังไม่ทราบว่ามีไหม แต่หลักการอยากให้มีมากราย แต่กว่าจะประมูล กสทช.ชุดนี้หมดไปแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังไม่เริ่มจะมีปี พ.ศ. 2563

ตอนนี้ตั้งคณะทำงานเพื่อทดลอง ดึงเวนเดอร์เข้ามาร่วม เพราะเทคโนโลยีที่ใช้หลากหลาย ใจผมอยากทำหลายที่ ไปอยู่ในโรงพยาบาล โรงเรียน กำลังคุย ใช้คลื่น C-Band ความถี่ 3000 MHz อัพ

ต้องดูเรื่องคลื่นว่าเหมาะกับบ้านเราหรือไม่ อุปกรณ์มือถือ เวนเดอร์ผลิตไหม คลื่นที่เป็นทางเลือกก็ 2600 MHz และ 700 MHz อยู่ในแผนแต่ต้องไปจ่ายคืนให้คนที่ประมูลไปโดยไทม์ไลน์คือ ต้นปีหน้ามีการทดสอบระบบ 5G และจะต้องจัดให้มีบริการเกิดขึ้นให้ได้ในปี 2563