“อุ๊คบี” ผนึก “เทนเซ็นต์” ก้าวใหม่สตาร์ตอัพต้นแบบคนรุ่นใหม่

ชื่อของ Ookbee อีบุ๊กแพลตฟอร์มสัญชาติไทย ก้าวไปไกลในระดับอาเซียน ถือเป็นสตาร์ตอัพในตำนานที่ปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่วงการ และตั้งเป้าจะก้าวตามรอยความสำเร็จและความมั่งคั่ง “ประชาชาติธุรกิจ” พาอัพเกรดความสำเร็จล่าสุดของ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ

Q : แผนลงทุนเมื่อได้ซีรีส์ C

ธุรกิจที่ทำกับเทนเซ็นก็เปิดบริษัทใหม่ชื่อ ookbee U โดยคำว่า U มาจาก UGC (User generated content) เราก็จะมีคอนเทนต์จากมืออาชีพ เช่น สำนักพิมพ์ นิตยสาร และเปิดให้ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์เองได้ ซึ่งได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2014 เพราะเราเห็นโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้น

หลังจากตอนระดมทุนซีรีส์ A ได้อินทัช ซีรีส์ B เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น ตอนนี้จึงจะขยายบทบาทให้เราเป็นมากกว่าร้านหนังสือ เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ทั้งผู้ใช้และผู้สร้างคอนเทนต์อยู่ด้วยกัน และให้ใครก็ได้สร้างคอนเทนต์ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นอีบุ๊ก แต่เป็นได้ทั้งวิดีโอ เสียง หนังสือ

Q : ทำไมถึงเลือกเทนเซ็นต์

เป็น strategic investor เขามีธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ช่วยได้มากกว่าเงินลงทุน มีธุรกิจที่ทำด้วยกันได้ แต่เทนเซ็นต์เป็นเพลเยอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่น เกม นิยาย วิดีโอ การ์ตูน ก็จะตรงกับที่เราทำ โดยเทนเซ็นจะมาถือหุ้นใน ookbee U เท่าไรนั้นไม่ได้เปิดเผย แต่ผู้บริหารก็ยังเป็นส่วนใหญ่อยู่

ที่เห็นชัดจะคือคอนเทนต์ เทนเซ็นต์มีนิยายจีนที่ได้รับความนิยม ก็นำมาแปลได้ และนำของไทยไปแปลขายได้ แล้วยังมี Joox ที่อาจจะเป็นแชนเนลหนึ่งที่เราเอาศิลปินของเราไปโปรโมต

โดยโครงสร้างคือ เราเปิดบริษัทใหม่ แล้วเทนเซ็นต์ก็นำเงินเข้ามาในบริษัทใหม่ เหมือนการเพิ่มทุน โดยเราไม่ได้ลงเงินแต่ได้หุ้น ที่ต้องแยกบริษัทใหม่เพราะ conflict นิดหน่อย คือถ้าเป็นบริษัทเดียวกัน ขายหนังสือด้วย ดึงนักเขียนไปเขียนขายในแอปเดียวกันด้วย เลยพยายามแยกเป็นแอปใหม่ เว็บใหม่

Q : ผู้ถือหุ้นเดิมยังอยู่

ยังอยู่ใน Ookbee เหมือนเดิม และก็มาอยู่ในบริษัทใหม่ด้วย ทุนทั้งหมดน่าจะเกินพันล้านไปแล้ว

Q : เคยทำอีคอมเมิร์ซ

ช่วงระดมทุนซีรีส์ B แบ่งเงิน 2 ก้อน ก้อนหนึ่งทำเรื่องดิจิทัล อีกก้อนเปิดบริษัทใหม่ทำอีคอมเมิร์ซ ช่วงนั้นอีคอมเมิร์ซกำลังขาขึ้น เรามองว่าฐานลูกค้า Ookbee มีเยอะกว่าและเป็นดิจิทัลอยู่แล้วด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราดันไปขายของเหมือนๆ กับเขา เพราะอยากเร่งโต ทีนี้ก็แข่งกันว่าใครถูกสุด เข้าไปในเกมลดแลกแจกแถม เงินหมดเร็วมาก ธุรกิจอีคอมเมิร์ซบ้านเรายิ่งขายยิ่งขาดทุน เพราะ subsidize ดึงลูกค้าเข้ามาหวังให้ซื้อซ้ำ ถ้าจะทู่ซี้ระดมทุนอีกก็อาจจะได้ แต่มันไม่ง่ายและไม่ใช่อีกแค่ 2?3 ปี แต่ต้องระดมทุนไปเรื่อย ๆ ก็ไม่อยากให้ส่วนนี้มาดึงเรา ก็ได้บทเรียน คือเรามีความสามารถในการระดมทุน ก็เลยทำซะใหญ่ คือ จ้างคนมาเป็นร้อย ถ้ากลับไปแก้ไขได้ ก็จะแก้สเกลที่ทำใหญ่เกินไป เราจะเจ็บตัวน้อยกว่านี้มาก

Q : ใต้ ookbee U จะมีอะไรบ้าง

มีสตอรี่ ล็อก, อุ๊คบี คอมมิกส์, เว็บนิยายธัญวลัย, ซีแชนเนล, ฟิกชั่น ล็อก, ฟังใจ และอาจจะมีอีก 2 อย่างที่จะมีในปีนี้ ก็จะมีเพลง นิยาย คลิปวิดีโอ เรื่องเล่า ซึ่งต่อไปอาจจะมีเป็นถามตอบและข่าว ซึ่งกำลังมาดูโมเดลว่าจะทำอย่างไรให้คนมีส่วนร่วม สำหรับโครงสร้างรายได้จะมี 2 ส่วน คือ 1. ค่าโฆษณา 2. การขายคอนเทนต์

ทุกวันนี้มีคนใช้อย่างน้อยเดือนละครั้งอยู่ 6 ล้านคน เราพยายามขยายผลิตภัณฑ์หรือตลาด เจาะให้มากขึ้น ดูว่าตรงไหนเป็นคอนเทนต์ที่ลูกค้ายอมจ่าย ก็จะเป็นรายได้นอกจากโฆษณา แต่ช่วงแรกก็ต้องใช้ฟรีก่อน แล้วเรายังมีวิดีโอคอนเทนต์รวมกันอีกพันล้านนาที มีแอ็กทีฟยูสเซอร์ 6 ล้านต่อเดือน ตั้งเป้า 10 ล้านในสิ้นปี ส่วนผู้สร้างคอนเทนต์ตอนนี้มีประมาณเกือบ 3 แสน ตั้งเป้า 5 แสนคนในสิ้นปี ส่วน C-Channel คอมมิวนิตี้วิดีโอไลฟ์สไตล์ของผู้หญิง ก็มีผู้ใช้เกือบ 9 ล้านคน แต่เราไม่ได้มองว่าจะเป็นคู่แข่งยูทูบหรือเฟซบุ๊ก แต่เป็นตัวแทนพับลิชเชอร์ ที่ขายคอนเทนต์ และพยายามสร้าง UGC ที่ต่างประเทศ

Q : Ookbee กี่ปีแล้ว

5 ปี จดบริษัทตั้งแต่ปี 2012 แต่ก่อนหน้านั้นรันอยู่ในบริษัทที่ตั้งเอง ใช้ชื่อว่า ไอทีเวิร์ค ประมาณ 1 ปี และเริ่มไปต่างประเทศราวปี 2014 ซึ่งได้บทเรียนเยอะ การจะทำสตาร์ตอัพให้เวิร์กก็ยาก นี่ยังต้องทำพร้อมกัน 2 ประเทศก็ยิ่งยาก เพราะแต่ละแห่งมีปัจจัยต่างกัน ผู้ใช้ก็ต่าง แต่ก็ยังง่ายกว่าคนอื่น เพราะเราเป็นเว็บเป็นแอปอยู่บนออนไลน์

Q : มองว่าประสบความสำเร็จ

ยังครับ คือสตาร์ตอัพอย่างอุ๊คบียังเพิ่งเริ่มมาก ๆ ใน 4-5 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะงงอยู่ด้วยซ้ำว่าจะทำอะไร และอีบุ๊กไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิด เพราะคนเลิกอ่านกระดาษไปอ่านเฟซบุ๊ก ไม่ได้ขวนขวายหาอีบุ๊ก ดังนั้นที่เราทำก็เป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของคนที่อยากอ่านกระดาษแต่อ่านอีบุ๊กเพราะประหยัดกว่า ดังนั้นคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือก็จะไม่ซื้อ เด็ก ๆ เขาไม่ได้เกิดมาในเจเนอเรชั่นนี้แล้ว ดังนั้นเราจึงต้องสร้าง ookbee U ขึ้นมาเชื่อมกับคนรุ่นใหม่


Q : อีบุ๊กช่วยให้สิ่งพิมพ์อยู่ได้ไหม

ไม่ได้ช่วยให้ใครรอดหรอก แค่ต้นทุนการผลิตอาจจะลดลง อาจจะได้กำไรเยอะขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าธุรกิจจะพลิกกลับมาสดใส สเกลมันเท่าเดิม เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้เข้ามาในส่วนนี้เลย อาจจะมีส่วนน้อยที่มาซื้อเพราะอยากเก็บสะสม

Q : ถึงต้องมี ookbee U

ตอนนี้มันมีทางเลือก เราจึงต้องไปในจุดที่คนอยู่และปรับโมเดล อย่างมีคนเขียนนิยาย เวลาอ่านก็จะเสียเงินตอนละ 3 บาท ซึ่งเดือนนี้มีเด็กที่เขียนได้เงิน 4 แสนบาท และมีแบบนี้เป็นพันคน โดยการเก็บแค่ตอนละ 3 บาท และไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ ส่วนใหญ่อายุ 18?20 ปี คือ ตลาดมันใหญ่กว่าเดิม โดยตัดตัวกลางออกไป มีแค่คนเขียนและคนอ่าน การมาถึงของ digital disruption มันใหญ่กว่าเดิม เปลี่ยนรูปแบบการใช้การทำงาน ซึ่งเราก็พยายามแยกโซนสำหรับแต่ละกลุ่ม ไม่ได้เน้นแต่วัยรุ่น

Q : รายได้ Ookbee

ก็หลายร้อยล้าน มีคน 300 กว่าคน เนื่องจากมีหลายบริษัท รวมทั้งที่ต่างประเทศ เพื่อน ๆ 4-5 คนที่ก่อตั้งก็ยังอยู่ครบ

Q : สตาร์ตอัพไทยจะเจอฟองสบู่

ฟองสบู่มันหมายถึงว่าใหญ่ซะจนแตก แต่ตอนนี้ยังมีน้อย มีแค่กระแส ซึ่งต้องแยกระหว่างบริษัทเปิดใหม่กับเทคสตาร์ตอัพ เทคสตาร์ตอัพจำเป็นต้องมีเพื่อแก้ปัญหาให้คน และรับมือ digital disruption ซึ่งมันจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีคนกลุ่มนี้ แต่ถามว่ามีการสนับสนุนพอหรือยัง มองว่ายัง เพราะยังไม่มีสตาร์ตอัพที่แข่งกับต่างประเทศได้

Q : ขาดการสนับสนุนตรงไหน

ยังมีการกำกับดูแลแปลก ๆ เอากฎหมายมาเบรก โลกไปถึงไหนแล้ว คือ ต้องสร้างกฎหมายให้เหมาะสมกับปัจจุบัน ส่วนเรื่องคนเป็นปัญหามานาน ซึ่งแก้ในระยะสั้นไม่ได้ ต้องปูพื้นฐานกันแต่เด็ก แต่รัฐบาลช่วยได้ในเบื้องต้นได้ เช่น เปิดกฎหมายให้ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติเข้ามาไทย ก็ต้องเปิดรับอะไรมา ถ้าอยากแข่งขันกับต่างประเทศ ซึ่ง 2 เรื่องนี้เอกชนทำเองไม่ได้

Q : กองทุน 500 tuktuk ทำส่วนตัวไม่เกี่ยวกับอุ๊คบี

ใช่ครับ ตอนนี้ลงไปประมาณ 37 บริษัท ตอนนี้ก็มีหลาย ๆ เจ้าที่ดี อาจจะมีโฮลดิ้งอยู่สิงคโปร์ เพราะกฎหมายที่ไม่อำนวยต่อการเป็นสตาร์ตอัพ ซึ่งเรื่องแบบนี้เรารอไม่ได้ เช่น จ้างคน ดังนั้นเราก็ต้องไป อย่างอุ๊คบีเป็นบริษัทไทย แต่ถ้าบวกลบแล้วไปอยู่สิงคโปร์ มันก็ดีกว่าหมด ดังนั้นถ้าอยากทำให้โตรัฐก็ต้องช่วย ส่วนเป้าหมายก็อยากจะลงทุนให้ได้สัก 100 บริษัทภายในไม่กี่ปีข้างหน้า โดยไม่ได้มีโฟกัสว่าต้องเป็นธุรกิจแบบไหน โดย 37 บริษัทนี้มีมูลค่าประมาณ 100?200 ล้าน แต่กองแรกเรามีเงิน 550 ล้าน ก็ยังไม่ถึงครึ่งเลย ซึ่งไม่มีทางฟองสบู่แตกแน่นอน เพราะกำไรของสตาร์ตอัพทั้งประเทศรวมกันยังไม่เท่ากำไรของเอไอเอส 1 ไตรมาสเลย

Q : คำแนะนำสำหรับสตาร์ตอัพ

1. ต้องมีคนทำเทคนิคที่รู้จริง 2. ต้องรู้เรื่องธุรกิจ 3. เรื่องดีไซน์ที่ต้องสื่อสารให้คนเข้าใจง่าย ๆ รวมถึงต้องมีอีคิว ธุรกิจสตาร์ตอัพต้องลองจากเล็ก ๆ และทำไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ก็ทำใหม่ จุดแข็งของสตาร์ตอัพคือเล็กและเร็ว ล้มได้ลุกเร็ว และต้องอดทน ต้องเข้าใจว่า 80% ที่ทำมันเจ๊ง แต่ก็แค่ทำใหม่ แล้วอย่ามองว่าตลาดใหญ่ได้แค่ 1% ก็มากแล้ว เพราะของจริงมันไม่มีหรอก ตลาดใหญ่กับธุรกิจคุณมันเป็น 2 เรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน ดังนั้นไม่ควรมองในมุมมุมเดียว และอะไรที่ดีก็ทำซ้ำ คือเราต้องมีภาพใหญ่ที่อยากจะเป็น พอจะทำอะไรแปลก ๆ ก็ต้องกลับมาคิดว่า แล้วมันเกี่ยวกับสิ่งที่อยากจะเป็นไหม ถ้าไม่เกี่ยวอย่าทำ

Q : เป้าหมายส่วนตัว

อยาก exit ให้เป็นเคสตัวอย่าง ตอนนี้เหลืออีก 3?4 ปีที่คิดไว้ ส่วนของกองทุน 500 tuktuk ก็อยากให้มีบริษัทที่ใหญ่กว่าเราเยอะ ๆ