กสทช.แจงยิบคุมเข้มรายจ่าย เร่ง”สตง.”ตรวจงบฯปีล่าสุดช่วยการันตี

กสทช.พ้อ ! รายงาน สตง.ติงการใช้งบประมาณเป็นข้อมูลเก่า ย้ำตั้งแต่ปี 2559 ได้ปรับปรุงระเบียบ-คุมเข้มการใช้เงิน “ค่าโกอินเตอร์-พี.อาร์.” ลดฮวบ แจงใช้จัดซื้อพิเศษได้ราคาถูกกว่า เหตุตัดตัวกลางซื้อตรงจากบริษัท เร่ง สตง.ตรวจผลงานปี”59-60 ช่วยยืนยันสาธารณะ โชว์ 5 ปีส่งงบประมาณเหลือเข้าคลังกว่า 1.7 หมื่นล้าน เงินประมูลคลื่นอีก 1.26 แสนล้าน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ส่งรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินปี 2558 มาให้เมื่อ 10 ส.ค. 2561 โดยท้วงติงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ทางสำนักงาน กสทช.ได้ส่งหนังสือชี้แจงกลับเมื่อ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา

“จริง ๆ ก่อนที่สตง.จะส่งรายงานมาให้ ได้แจ้งว่า ทราบดีว่า กสทช.ได้ปรับปรุงระเบียบงบประมาณ ระเบียบพัสดุหลายส่วน ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา แต่ สตง.ก็จำเป็นต้องทำรายงานสรุปตามข้อเท็จจริง ณ เวลานั้นไปก่อน จึงได้เร่งขอให้ สตง.ช่วยรีบประเมินผลงานและการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2559 และ 2560 ให้เสร็จเร็ว ๆ เพราะจะได้เห็นภาพชัดเจนว่า กสทช.ได้ปรับปรุงทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพขึ้นมากแล้ว”

แจกคูปองทีวีดิจิทัลดันงบฯพุ่ง

งบประมาณด้านประชาสัมพันธ์ที่ สตง.ตั้งข้อสังเกตว่า มีการกระจายไปอยู่ในหลายส่วนงาน แทนที่จะอยู่กับสำนักสื่อสารองค์กร (สบ.) ที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงนั้น เป็นเพราะในปี 2558

โครงสร้างการบริหารงานยังแยกตามภารกิจของสายงาน อาทิ สายงานโทรคมนาคม จึงทำให้แผนงานด้านการประชาสัมพันธ์ไปแทรกอยู่ในแต่ละสายงานหลัก แต่ปัจจุบันได้บูรณาการให้มีเอกภาพแล้ว โดยมี สบ.เป็นศูนย์กลางทำแผนประชาสัมพันธ์ประจำปี

“งบฯปี 2558 เหมือนจะเยอะ แต่เป็นเพราะอยู่ในช่วงแจกคูปองส่วนลดทีวีดิจิทัล จึงต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน และมีการจัดประมูลคลื่นด้วย งานประชาสัมพันธ์ในส่วนอื่นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย และปีหลังจากนั้นก็ลดลง”

โดยค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ในปี 2557 อยู่ที่ 188.13 ล้านบาท ในปี 2558 ลดลง 16.48% มาอยู่ที่ 157.13 ล้านบาท ปี 2559 ลดอีก 25.17% ปี 2560 อยู่ที่ 91.23 ล้านบาท ลดอีก 22.41%

จัดซื้อวิธีพิเศษราคาถูกกว่า

ส่วนการท้วงติงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ และตกลงราคาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของโครงการทั้งหมดนั้น เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เป็นการซื้อตรงไปที่บริษัทผู้ผลิต บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยไม่ผ่านนายหน้าคนกลาง เพื่อให้ได้ราคาถูกที่สุด และในส่วนที่เป็นครุภัณฑ์ยังเป็นการจัดซื้อพร้อมกับการบำรุงรักษาต่อเนื่อง

“จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษหรือตกลงราคา มีน้อยแล้ว ที่เหลืออยู่ก็เป็นการซื้อตรง ไม่ผ่านเอเยนซี่ให้ต้องบวกราคาเพิ่ม”

สำหรับการตั้งราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกติงว่า สูงกว่าหน่วยงานอื่นนั้น พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริง และจะตั้งคณะกรรมการสอบทันทีหากพบว่าราคาสูงกว่าจริง แต่เบื้องต้นพบว่า เกิดจากการตั้งราคากลางโดยใช้ราคาเดิมตั้งแต่ปี 2556-2557 ซึ่งปกติผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวมานานแล้วราคาจะลดลง รวมถึงต้องตรวจสอบด้วยว่า ราคาที่ สตง.นำมาเทียบเป็นราคาตลาด ณ ปัจจุบันหรือไม่ เพราะถ้าเป็นราคาปี 2561 ย่อมถูกกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่จัดซื้ออยู่แล้ว

“ยืนยันว่า การจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงาน ได้ปรับปรุงมาโดยตลอด เพื่อให้มีความรัดกุมเข้มงวด ซึ่งในปัจจุบันได้ยึดตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560”

คุมโครงการวิจัย-เผยแพร่บนเว็บ

ส่วน “ค่าจ้างที่ปรึกษา” ที่ สตง.ท้วงติงว่ามีการเบิกจ่ายในลักษณะการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “MOU” กับสถาบันการศึกษา มูลนิธิสมาคม รวมถึงบริษัทเอกชน โดยไม่ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและไม่มีการทำสัญญาเพื่อให้มีผลผูกพันตามกฎหมายมากนั้น ตั้งแต่ปี 2559 ได้มีการออกระเบียบให้ทุก MOU ต้องมีการทำสัญญาและระบุเงื่อนไขการจ่ายเงินแต่ละงวดให้ชัดเจนแล้ว

ทั้งยังได้จัดทำทะเบียนควบคุมรวมถึงการรวบรวมรายงานจากการจ้างที่ปรึกษาจ้างวิจัยต่าง ๆ ให้เป็นระบบ พร้อมทั้งเผยแพร่สู่สาธารณะด้วยการนำขึ้นเว็บไซต์ของ กสทช.เกือบครบทั้งหมดแล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้งบประมาณแล้ว

ค่าโกอินเตอร์ลดฮวบ

สิ่งที่ยืนยันได้ชัดว่า กสทช.ได้มีการปรับปรุงการใช้งบประมาณอย่างชัดเจน คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศที่ สตง.เคยท้วงติงไว้ ปัจจุบันมีการใช้งบประมาณส่วนนี้น้อยลงมาก โดยจากปี 2556 ที่มีถึง 127.19 ล้านบาท

ปี 2557 ลดลง 21.02% ปี 2558 เหลือ 59.58 ล้านบาท ลดลง 40.69% ในปี 2559 ยังลดลงอีก 22.56% จนในปี 2560 เหลือ 52.44 ล้านบาท

เช่นเดียวกับค่ารับรอง ที่ปี 2556 อยู่ที่ 7.58 ล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่ 2.97 ล้านบาท ค่าตอบแทนที่ปรึกษา และผู้ปฏิบัติงานประจำ กรรมการ กสทช. ปี 2556 อยู่ที่ 102.73 ล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่ 77.93 ล้านบาท

ทั้งการนำเงินงบประมาณที่เหลือส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ของสำนักงาน กสทช. มียอดเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จาก 531 ล้านบาทในปี 2556 เพิ่มเป็นกว่า 4,000 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2558 จนในปี 2560 อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท รวมทั้งหมดกว่า 1.73 หมื่นล้านบาท ไม่นับรวมเงินประมูลคลื่นความถี่ที่-ต้องส่งเป็นรายได้แผ่นดินไปแล้วกว่า 1.26 แสนล้านบาท

กสทช.จัดซื้อวิธีพิเศษเกินครึ่ง “สตง.”จี้สอบราคากลางสูงกว่าหน่วยอื่น

เปิดรายงาน “สตง.” ตรวจการเบิกจ่ายสำนักงาน กสทช. ล่าสุดเผยงบฯดำเนินงานทะลุ 3.7 พันล้าน แซงหน้าโครงการตามภารกิจหลัก แถมเบิกจริงทันจบปีแค่ 57% ค่าเดินทางโกอินเตอร์ลด 100 ล้าน พี.อาร์.ยังทะลุ 446 ล้านบาท ติงจัดซื้อวิธีพิเศษ-ตกลงราคาเกินครึ่ง จี้ตั้งกรรมการสอบตั้งราคากลางครุภัณฑ์สูงกว่าหน่วยงานอื่น

แหล่งข่าวภายในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อ 20 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา สตง.ได้ส่งรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายและทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำหรับปี 2558 ที่ได้ตรวจสอบแล้ว ให้สำนักงาน กสทช.รับทราบ โดยพบว่ามีหลายประเด็นได้ปรับปรุงตามข้อท้วงติง แต่บางประเด็นยังต้องมีการปรับปรุงรายได้ 2 หมื่นล้าน

ในปี 2558 สำนักงาน กสทช.มีรายได้ 20,857.21 ล้านบาท โดยไม่รวมเงินประมูลคลื่น 1800 MHz และทีวีดิจิทัล รายจ่ายอยู่ที่ 9,356.11 ล้านบาท ไม่รวมเงินนำส่งรายได้เข้าคลังและประมูลคลื่น เบ็ดเสร็จจึงมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย 11,501.10 ล้านบาท

โดยรายจ่ายการดำเนินงานเดิม 2,244 ล้านบาท หลังปรับปรุงอยู่ที่ 3,7440 ล้านบาท มีสัดส่วนถึง 73.01% ของรายจ่ายทั้งหมด ขณะที่งบประมาณโครงการตามยุทธศาสตร์ที่เป็นภารกิจหลักมีสัดส่วนแค่ 23.77% และแม้จะลดลงจากปี 2557 ราว 499 ล้านบาท แต่หากพิจารณาย้อนถึงปี 2554 ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ทั้งมีการเบิกจ่ายจริงเฉลี่ยเพียง 57.25% มีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีเฉลี่ย 28.37% และมีงบประมาณคงเหลือเฉลี่ย 14.38%

สตง.ตั้งข้อสังเกตว่า แม้สำนักงานจะตั้งงบประมาณแบบ “เกินดุล” แต่สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นทุกปีตามการเติบโตของอุตสาหกรรมที่กำกับดูแล ซึ่งหากจัดทำงบประมาณรายจ่าย 70% ของประมาณการรายรับ ก็จะมีงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เบิกจ่ายได้เพียง 48.90-66.91% ดังนั้นการจัดทำงบประมาณแบบเกินดุลยังไม่สอดคล้องกับศักยภาพ จึงควรตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและตามศักยภาพ

ติง MOU จ้างวิจัย 123 ล้าน

ขณะที่การตรวจสอบแบบเจาะลึก สตง.ได้เลือกตรวจค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากเป็นหมวดที่มีประเด็นปัญหาจากผลการตรวจสอบในครั้งก่อน ซึ่งพบว่า”ค่าจ้างที่ปรึกษา” 310.51 ล้านบาท คิดเป็น 13.83% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ลดลงจากปี 2557 รวม 52.52 ล้านบาท เนื่องจากการทำสัญญาจ้างที่ลดลงทั้งในแง่จำนวนและมูลค่า

แต่ยังพบว่าการจ้างที่ปรึกษาในลักษณะการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “MOU” ยังมีการเบิกจ่ายโดยไม่ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและไม่มีการทำสัญญาเพื่อให้มีผลผูกพันตามกฎหมายมากถึง 123.53 ล้านบาท ซึ่งมีทั้ง MOU ที่ทำกับสถาบันการศึกษา และมูลนิธิ/สมาคม และบริษัทเอกชนด้วย

แม้ในภายหลังสำนักงาน กสทช.ได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติและหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินจาก MOU แล้ว แต่ ณ ปี 2558 ยังไม่ได้มีข้อกำหนดนี้

สตง.จึงขอให้ผู้บริหารสำนักงาน จัดทำทะเบียนควบคุมการทำ MOU และรวบรวมผลงานจากการทำ MOU ให้เป็นระบบเพื่อให้ตรวจสอบและประเมินได้ว่า มีการนำผลงานดังกล่าวมาใช้ประโยชน์หรือไม่ เพราะเหตุใด เพื่อให้มีการใช้งบประมาณอย่างมีประโยชน์อย่างแท้จริง รวมถึงควรนำรายงานวิจัยต่าง ๆ ที่จัดจ้างทำขึ้น เผยแพร่ต่อสาธารณะด้วย

ซุกงบฯ พี.อาร์.รวม 446 ล้าน

ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ระบุไว้ที่ 270.35 ล้านบาท คิดเป็น 12.04% ของค่าใช้จ่ายดำเนินงาน แต่ สตง.พบว่า ยังมีค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์แทรกในหมวดอื่น ทั้งยังมีที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี

เมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้วทั้งปี 2558 จะมีงบฯประชาสัมพันธ์ 446.03 ล้านบาท และด้วยงบประมาณที่กระจายอยู่ในหลายส่วนงาน ทำให้สำนักบริหารองค์กร (สบ.) ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ ไม่มีข้อมูลในภาพรวมทั้งหมด อาจส่งผลต่อการตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย ซึ่งเป็นประเด็นที่ สตง.ท้วงติงมาตลอด

ขณะที่เมื่อแยกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพบว่า 72.21% ของงบฯประชาสัมพันธ์ หรือ 179.59 ล้านบาท ใช้การจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ 20.37% ใช้วิธีตกลงราคา ซึ่งเมื่อพิจารณาโครงการจัดซื้อพิเศษพบว่า เป็นเรื่องที่ควรต้องมีการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้ว จึงอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษในการดำเนินการ จึงขอให้มีการตรวจสอบเพื่อลดการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษที่ไม่จำเป็นและไม่เหมาะสม

ค่าใช้จ่ายโกอินเตอร์ลด 100 ล้าน

ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ 56.41 ล้านบาท เป็นส่วนที่ลดลงอย่างมีสาระสำคัญ โดยลดลงจากปี 2557 ถึง 100.20 ล้านบาท หรือ 63.98% เนื่องจากสำนักงาน กสทช.ได้นำข้อเสนอแนะของ สตง.ที่ท้วงติงไว้ และกรอบของมติคณะรัฐมนตรี (3 มี.ค. 2558) มาปฏิบัติ

โดยกำหนดวงเงินสำหรับเดินทางไปต่างประเทศสำหรับประธาน กสทช. 5 ล้านบาทต่อปี และกรรมการ กสทช. 3 ล้านบาทต่อคนต่อปี ขณะที่พนักงาน กสทช.ให้ไปดูงานได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อคนต่อปี หากมีความจำเป็นให้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาบรรยายในไทยแทน

แต่เพื่อให้มีความชัดเจน สตง.ได้เสนอให้ เลขาธิการ กสทช.ออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายหมวดนี้เป็นไปตามความเหมาะสมและจำเป็น แทนการใช้มาตรการชั่วคราวที่อาจถูกยกเลิกในอนาคตได้

“วิธีพิเศษ-ตกลงราคา” เพียบ

ที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอด้านพัสดุและครุภัณฑ์พบว่า การจัดซื้อจัดจ้างไม่มีประสิทธิภาพ มีการใช้วิธีพิเศษและตกลงราคารวม 59.89% ของการจัดซื้อจัดจ้าง มูลค่ารวม 1,848.55 ล้านบาท แบ่งเป็น “วิธีพิเศษ” 37.88% หรือ 700.29 ล้านบาท “ตกลงราคา” 22.01% หรือ 406.94 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลงจากปี 2557 ถึง 755.82 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในสัดส่วนเกินครึ่งของการจัดซื้อทั้งปี อาจทำให้เกิดการแข่งขันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงควรหลีกเลี่ยงทั้งยังพบข้อสังเกตเรื่องความเหมาะสมของการคำนวณราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้าง

ซึ่งจาก 124 รายการที่สามารถเปรียบเทียบคุณสมบัติครุภัณฑ์ได้นั้นพบว่า 120 รายการมีราคาสูงกว่าราคาตามบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณ และกระทรวงไอซีที ซึ่งบางรายการมีผลต่างสูงถึงหน่วยละ 355,000 บาท อาทิ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 500 กิโลวัตต์ ที่มาตรฐาน กสทช.กำหนดราคาไว้ที่ 3.9 ล้านบาท ส่วนราชการทั่วไปอยู่ที่ 3.55 ล้านบาท จึงขอให้สำนักงาน กสทช.ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง