Q&A ปลดล็อค”พร้อมเพย์”ผูกบัญชีกับเบอร์โทร.ได้ง่ายขึ้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงิน 20 แห่ง และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประกาศจับมือร่วมกันเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันเพื่อรองรับการสมัครใช้บริการ “พร้อมเพย์” ด้วยการผูกบัญชีธนาคารไว้กับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการใช้รหัสUSSD *179 ตรวจสอบยืนยันตัวตน

โดยนางสาวสิริธิดา  พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบาย ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานพร้อมเพย์ด้วยเลขหมายโทรศัพท์กว่า 16 ล้านเลขหมาย และมีมูลค่าธุรกรรมรวมสูงกว่า 3.9 ล้านล้านบาท ซึ่งยอดการโอนต่อครั้งอยู่ที่ราว 5,100 บาท ขณะที่มีแนวโน้มการลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ

Q : ทำไมต้องมีระบบนี้

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะมีเลขหมายจำนวนหนึ่งที่เคยมีผู้เปิดใช้บริการมาแล้ว แต่มีการยกเลิกไม่ได้ใช้งานไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง  ทางผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถนำเวียนกลับมาขายใหม่ได้ ดังนั้นเลขหมายที่ผู้บริโภคซื้อไปจึงอาจจะเคยนำไปลงทะเบียนใช้งานพร้อมเพย์มาก่อน และไม่ได้แจ้งยกเลิกการผูกเบอร์นั้น เมื่อยกเลิกการใช้เลขหมาย

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเสริมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ 1 เลขหมายโทรศัพท์ผูกกับบัญชีพร้อมเพย์ได้แค่ 1 บัญชี  เมื่อผู้ใช้งานได้เปิดเบอร์มือถือใหม่แล้วจะนำไปสมัครใช้บริการพร้อมเพย์ จะมีกลุ่มหนึ่งที่พบว่า เบอร์ดังกล่าวไปผูกไว้กับบริการพร้อมเพย์ของคนอื่นแล้ว  ทางธนาคารจึงไม่สามารถเปิดให้บริการพร้อมเพย์ด้วยเบอร์ดังกล่าวได้ จนกว่าธนาคารจะประสานข้อมูลกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้ยืนยันตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของเลขหมายอย่างแท้จริงก่อน ซึ่งจะใช้เวลาราว 7 – 10 วัน  จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบตรวจสอบด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

@มั่นใจได้แค่ไหนว่ายืนยันตัวบุคคลได้ถูกต้อง

รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้มีการลงทะเบียนยืนยันตัวบุคคลด้วยระบบอัตลักษณ์แล้ว จึงมีความปลอดภัยป้องกันการแอบอ้างได้  ดังนั้น เมื่อผู้ใช้งานกดรหัส USSDด้วยการกดเครื่องหมาย * 179 * ตามด้วยเลขหมายบัตรประชาชน 13 หลัก เครื่องหมาย # แล้วกดโทรออก ระบบจะส่งรหัสอ้างอิงกลับมาเพื่อยืนยันว่า เลขหมายโทรศัพท์ที่กดออกมานั้นตรงกับเลขบัตรประชาชนที่ต้องการตรวจสอบหรือไม่  โดยจะเริ่มใช้งานได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2562

“หากระบบตรวจสอบและยืนยันว่าแล้ว เจ้าของเลขหมายกับเจ้าของบัญชีธนาคารที่จะผูกพร้อมเพย์เป็นคนเดียวกัน ธนาคารก็จะเปิดให้ใช้บริการพร้อมเพย์ได้ ช่วยย่นระยะเวลาในการตรวจสอบยืนยันตัวบุคคลในกรณีที่เป็นการใช้เลขหมายที่ผ่านการ Reuse แล้ว”

Q : จะไม่ถูกแอบอ้างเลขหมายไปเปิดพร้อมเพย์

นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย ยืนยันว่า การเปิดใช้งานพร้อมเพย์ด้วยการผูกบัญชีกับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ชื่อเจ้าของบัญชีธนาคารและเจ้าของเบอร์โทร. จะต้องเป็นคนๆ เดียวกันเท่านั้น

ดังนั้น  ระบบนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเปิดใช้บริการพร้อมเพย์ ซึ่งยังไม่เคยมีบริการโมบายแบงค์กิ้ง หรือเปลี่ยนเบอร์ที่ใช้ติดต่อใหม่แล้วเลขหมายดังกล่าวเคยมีผู้ลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์ไว้แล้ว

ทั้งยังจะช่วยต่อยอดการขยายบริการพร้อมเพย์ให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น โดยการสมัครใช้บริการใหม่ได้ผ่านช่องทางอื่นนอกจากเคาน์เตอร์สาขาของธนาคาร อาทิ  ตู้ ATM เนื่องจากสามารถใช้การกดรหัส USSD *179 ตรวจสอบและยืนยันตัวตนได้

Q : คนใกล้ชิดแอบนำบัญชีกับเบอร์โทร.ไปเปิดพร้อมเพย์แล้วโอนเงินออก

บริการพร้อมเพย์ปัจจุบัน ไม่สามารถโอนเงินออกจากบัญชีได้เองโดยอัตโนมัติ การจะโอนเงินออกจากบัญชี จะต้องใช้ข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ เช่น หากต้องการโอนเงินผ่านตู้ ATM จะต้องมีบัตร ATMหรือบัตรเดบิต และกดรหัสเพื่อทำรายการผ่านตู้  หรือหากเป็นการโอนผ่าน Mobile Banking -Internet Banking ซึ่งต้องมีข้อมูลUsername และ Password จึงจะทำรายการได้  โดยในกระบวนการเปิดบริการทั้ง ATM บัตรเดบิตMobile Banking Internet Banking แต่ละธนาคารจะมีกระบวนการยืนยันพิสูจน์ตัวตนของเจ้าของบัญชี  ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องไปดำเนินการที่สาขาของธนาคารเอง  ไม่เกี่ยวกับการกดรหัส USSD*179 ที่เป็นความร่วมมือครั้งนี้