มุ่งพัฒนา-รีดศักยภาพให้สุด ภารกิจไปรษณีย์ไทยยุคโลจิสติกส์เดือด

เป็นเบอร์ 1 ที่ครองมาเก็ตแชร์มายาวนานสำหรับ “ไปรษณีย์ไทย” แต่วันนี้ตลาดโลจิสติกส์ที่รองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเนื้อหอม

“สมร เทิดธรรมพิบูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และแม้จะยังเป็นเบอร์ 1 ในตลาด แต่มาร์เก็ตแชร์ก็ลดลง ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 50% แต่ก็ไม่ได้กระทบกับรายได้ เนื่องจากตลาดโลจิสติกส์เติบโตอย่างมาก เฉลี่ยเกือบ 20% ต่อปี ในส่วนของบริษัทแต่ละวันมีพัสดุในระบบกว่า 8 ล้านชิ้น คิดเป็นสัดส่วน 40% ของไปรษณียภัณฑ์ในระบบ และโต 10-20% ทุกปี ซึ่งปีนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ทะลุ 30,000 ล้านบาท

“โลจิสติกส์สำหรับอีคอมเมิร์ซมีโอกาสโตได้อีกเยอะ ใครก็อยากเข้ามา ไปห้ามเขาไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้กังวลว่าใครจะไปจะมา เพราะหน้าที่คือการพัฒนาตัวเอง แม้จะไม่มีคู่แข่งก็ต้องพัฒนา โดยใช้จุดแข็งที่มีคือการมีเครือข่ายที่ครอบคลุมใกล้ชิดกับชุมชน ซึ่งไม่ใช่แค่จำนวนจุดบริการ แต่หมายถึง ไม่ว่าพื้นที่ไกลแค่ไหนเราก็ไปส่ง ซึ่งเชื่อว่าไม่มีผู้เล่นรายใดทำได้แบบนี้ เพราะเขาเน้นที่การสร้างกำไรสูงสุด แต่ไปรษณีย์เน้นให้ลูกค้าโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน”

โดยเน้นการเพิ่มคุณภาพบริการด้วยการให้เครือข่ายคนและทรัพยากรเดิมให้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

“ต้องฟังเสียงลูกค้ามาปรับปรุงบริการอยู่เสมอ อย่างที่สำรวจมาลูกค้าอยากให้ไปรับพัสดุถึงบ้าน และมีบริการเก็บเงินปลายทาง (COD) ให้ เราก็เข้าไปตอบโจทย์ตรงนี้แล้ว โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ส่งที่มีปริมาณเยอะ ๆ เท่านั้น ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลได้ ณ ที่ทำการใกล้บ้านได้เลย ส่วน COD เดือนหน้าจะเปิดตัวโฉมใหม่ที่รองรับยุค 4.0 เป็นธุรกรรมออนไลน์ เพิ่มความสะดวกให้มากขึ้น”

ขณะเดียวกันได้นำระบบคัดแยกอัตโนมัติเข้ามาใช้มากขึ้น ภายในปี 2564 จะติดตั้งครบทุก 19 ศูนย์ไปรษณีย์ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้การคัดแยกพัสดุทำได้รวดเร็วขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับสิ่งของที่ส่งด้วย

นอกจากนี้จะขยายพื้นที่การส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) แบบ SameDay ให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันให้บริการได้แล้วในเขตหัวเมืองใหญ่ แต่ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไปจะเริ่มเห็นการส่ง SameDay แบบข้ามภาค เนื่องจากบริษัทจะได้รับการรับรองมาตรฐานการไปรษณีย์ควบคุม จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยเริ่มที่ศูนย์ไปรษณีย์ ณ สนามบินสุวรรณภูมิเป็นแห่งแรก ก่อนที่จะขยายไปอีก 5 สนามบิน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ อุดรธานี ซึ่งจะทำให้พัสดุที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบของศูนย์ทั้งหมดสามารถขนส่งไปพร้อมอากาศยานได้ ทำให้ถึงปลายทางได้เร็วขึ้น โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2562 จะสามารถให้บริการ EMS แบบ SameDay ได้ทั่วเอเชียในทุกเส้นทางที่มีเที่ยวระหว่างประเทศจากไทยไปถึง รวมถึงการพิจารณาที่จะเจรจากับสายการบินเพื่อเช่าเหมาลำสำหรับการส่งพัสดุด้วย

โดยปัจจุบันมี EMS ที่อยู่ในกลุ่มนี้ราว 35 ล้านชิ้นต่อเดือน ขณะที่เงินลงทุนในส่วนนี้จะอยู่ราว 60 ล้านบาทต่อสนามบิน จากงบฯการลงทุนทั้งปี 2561 ที่วางไว้ราวหมื่นล้านบาท เพิ่มจาก 7,000 ล้านบาทในปีที่แล้ว ส่วนปี 2562 น่าจะมีการเพิ่มงบลงทุนให้มากกว่าหมื่นล้านบาท

“ขอให้ลูกค้ามั่นใจว่า ไปรษณีย์จะไม่หยุดพัฒนาและจะรับฟังเสียงลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องให้กับทุกกลุ่มลูกค้าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จึงอยากให้คนไทยมาเลือกใช้บริการของเรา เพราะเงินจะไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ รายได้ของไปรษณีย์ไทย 40% ส่งเข้ากระทรวงการคลัง อีก 20% ได้จ่ายเป็นภาษีเข้ารัฐ ทั้งหมดก็จะเป็นเงินงบประมาณย้อนกลับมาพัฒนาประเทศ”