7 ปีไทยโต 9 พันล้านเหรียญ “นินจาแวน” น้องใหม่พร้อมลุย

"วีรชัย ชูสกุลพร" หัวหน้าผู้บริหารบริษัท นินจา แวน ประจำประเทศไทย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ "นินจาแวน"

นินจาแวน : อานิสงส์ของอีคอมเมิร์ซบูม ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตก้าวกระโดด ผู้เล่นรายเล็กรายใหญ่เข้าร่วมวงกันทั่วหน้า ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุดคือ ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังใหญ่สุดในประเทศ แต่จะสั่นสะเทือนผู้ประกอบการรายเล็กและน้องใหม่มากน้อยแค่ไหน “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “วีรชัย ชูสกุลพร” หัวหน้าผู้บริหารบริษัท นินจา แวน ประจำประเทศไทย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ “นินจาแวน”

Q : น้องใหม่ในตลาด

นินจาแวนเป็นสตาร์ตอัพที่เปิดตัวในสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2557 ตอนนี้เปิดบริการใน 6 ประเทศอาเซียน เน้นกลุ่มอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก เพราะผู้ก่อตั้งนินจาแวน ตั้งใจจะทำอีคอมเมิร์ซ แต่หาขนส่งที่ถูกใจไม่ได้ เลยทำเอง จึงเชื่อว่าเข้าใจในธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ดี แต่ในไทยเพิ่งเริ่มทำตลาดได้ 2 ปี

โดยลูกค้าสามารถจัดการออร์เดอร์จากหน้าเว็บตัวเอง โดยเชื่อมกับหลังบ้านของนินจาได้ เป็นจุดแข็งของเรา และมีแอปพลิเคชั่นให้ด้วย ปีแรกลูกค้าหลักยังเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซ ปีที่ 2 ก็เริ่มจับรายย่อยอย่างพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

Q : 2 ปีกับตลาดไทย 

ผู้เล่นในตลาดมีเยอะ ซึ่งบีบให้ต้องปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเซอร์วิสไมนด์ของคนขับ ระยะเวลาการจัดส่ง ก็ต้องพยายามใช้เทคโนโลยีมาช่วย และทำราคาให้แข่งขันในตลาดได้ กับเรื่องคน เพราะยิ่งขนส่งมากก็ต้องเพิ่มพนักงาน แต่ต้องยังคงคุณภาพในการขนส่งด้วย เพราะไม่ใช่แค่ราคาถูกแล้วจะอยู่ได้ ถ้ามีข้อผิดพลาด ล่าช้าหรือของหายก็มีโอกาสที่จะไม่ใช้บริการอีก ซึ่งตอนนี้มีพนักงานขนส่ง 800 ราย

Q : ตลาดไทยยังโตได้อีก 

มั่นใจว่ายังโตได้ โดยล้อไปกับอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น มูลค่าอีคอมเมิร์ซ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ถึง 5% ของค้าปลีก ขณะที่จีนมีถึง 20% ไทยจึงมีโอกาสโตถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 7 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบนินจาแวนไทยกับประเทศอื่น ไทยอาจไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่ที่สุด แต่มีอัตราการส่งของมากที่สุด ผู้เล่นรายใหม่มีโอกาสแน่นอน แต่ต้องมั่นใจว่ามีบริการที่พิเศษกว่า ตอบโจทย์ลูกค้าได้

Q : แต่ค้าปลีกรายใหญ่ก็โดดมาแข่ง

กรณีเซเว่นอีเลฟเว่นมองว่าจะส่งผลดีกับตลาดโลจิสติกส์ ให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ช่วยให้ตลาดขยาย ในแง่ของผู้ประกอบการมองว่า แต่ละรายก็วางแผนไม่เหมือนกัน เซเว่นฯอาจจะได้เปรียบที่สาขาเยอะ และยังจำกัดแค่กรุงเทพฯ ปริมณฑล เรามีจุดเด่นคือไปรับถึงบ้าน ซึ่งต่อไปเขาอาจจะต้องหาพาร์ตเนอร์เพิ่ม ก็เป็นโอกาสของเราหรืออย่างที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซลงมาให้บริการขนส่งเอง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับบริการว่าจะทำได้ดีกว่าหรือเปล่า

Q : รายย่อยจะยังอยู่ได้ 

ทุกธุรกิจมีผู้เล่นรายใหญ่ที่รอดแค่ 2-3 ราย เช่นเดียวกับโลจิสติกส์ แต่คงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ และเชื่อว่ารายย่อยจะยังมีอยู่ แต่จะเจาะเป็นกลุ่ม ๆ อย่างเราก็เน้นที่อีคอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ

Q : หาพาร์ตเนอร์ขยายบริการ

อาจจะมีด้านเพย์เมนต์ ทำให้ง่ายขึ้น อย่างคิวอาร์เพย์เมนต์ เพราะปัจจุบันมีแค่เก็บเงินปลายทางให้ กลางปีหน้าจะรับบัตรเครดิต ก็จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเริ่มที่สิงคโปร์ อย่างการันตีส่งถึงภายใน 90 นาที ก็เริ่มที่ไทย

Q : เป้าหมายต่อไป

ตอนนี้มีลูกค้าร้านค้ากว่า 200 ราย สิ้นปีพยายามจะโต 5-6 เท่า ทั้งแง่จำนวนลูกค้าและปริมาณการส่ง ปีที่ผ่านมาเราโต 4 เท่า และในอีก 3-5 ปีจะเชื่อมต่อ 6 ประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการแต่ละประเทศส่งของข้ามกันได้ แต่ตอนนี้พยายามขยายบริการส่งให้ถึงปลายทางทั่วประเทศก่อน ซึ่งเกือบ 100% แล้วเหลือเพียง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเพิ่มจุดรับพัสดุจากที่ยังจำกัดในกรุงเทพฯ ปริมณฑลให้ขยายไปในต่างจังหวัดมากขึ้น ขยายหน้าร้านจากที่มี 2 แห่ง เป็น 100 แห่งภายในกลางปีหน้า ซึ่งจะมีทั้งที่บริษัททำเองและเปิดแฟรนไชส์ รวมถึงเพิ่มพื้นที่บริการการันตี ส่งถึงภายใน 90 นาทีให้มากขึ้น