“Gamification” เทรนด์ที่องค์กรคุณไม่ควรละเลย

คอลัมน์ Pawoot.com โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

สมัยพวกเรายังเด็ก ๆ จำกันได้ไหมว่า การเล่นเกมเป็นหนึ่งในกิจกรรมโปรดที่เด็ก ๆ มักเล่นในเวลาว่าง และถ้าใครเล่นมาก ๆ เข้ายิ่งเล่นก็ยิ่งติดทำให้บางคนลืมวันลืมคืนกันเลยทีเดียว ซึ่งหลักการเกมนั้นจะเล่นกับความรู้สึกอยากเอาชนะของคน พอผ่านด่านนี้ได้ก็อยากเล่นด่านต่อไปเรื่อย ๆ โดยมีแต้มหรือมีรางวัลเป็นสิ่งล่อใจ

Gamification ก็เช่นกัน ถ้าเรานำมาใช้ในองค์กรจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานมากขึ้น โดยใช้แนวคิดของเกมมาใช้ในกิจกรรมให้คนมาร่วมสนุกต่าง ๆ

และนี่เป็นรูปแบบโปรแกรมต่าง ๆ ที่องค์กรปรับใช้ได้

1.Training Program

องค์กรสามารถใช้เกมที่มีสาระความรู้ นอกจากจะให้ความเพลิดเพลินแก่พนักงานในช่วงเวลาพักแล้ว ยังถือเป็นการทดสอบความรู้แก่พนักงานอีกด้วย ซึ่งพนักงานจะได้รับแต้มสะสมหรือรางวัลในการตอบแทน

โดยบริษัท At Home Decor ขายอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในบ้านได้นำมาใช้กับพนักงาน และสังเกตว่า 99% ของพนักงานมีความรู้สึกเป็นส่วนร่วมกับบริษัทมากขึ้น และยังช่วยให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นด้วย

2. Healthcare program

องค์กรสามารถสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ เช่น วิ่งแข่งโดยวัดระยะทางการวิ่งจากการ check in เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พนักงานคนอื่นกระตือรือร้นอยากจะวิ่งด้วย ซึ่งถือเป็นการแข่งขันที่ส่งเสริมให้พนักงานหันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีกันมากขึ้น

3. Management system

ระบบที่ช่วยให้องค์กรจัดการกับเป้าหมายของพนักงานได้ง่าย ๆ เช่น ถ้าพนักงานขายทำยอดขายถึงเป้า ในงานเฉลิมฉลองบริษัทนั้นจะสามารถเปิด youtube clip อะไรก็ได้ที่ตัวเองต้องการที่ทีวีของบริษัท เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้คนอื่นรู้ถึงความสำเร็จก้าวนึงของตัวเอง และบอกผลประกอบการล่าสุดของแต่ละทีม จึงทำให้ทุกคนสนุกและอยากจะเล่นเกมนี้ไปพร้อม ๆ กัน

4. career planning software

องค์กรสามารถใช้เกมเกี่ยวกับสมองโดยเฉพาะเพื่อคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน เพื่อวัดระดับความสามารถพนักงานแต่ละปี หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อการเลื่อนตำแหน่ง เช่น เล่นเกม ถ้าผ่านด่านการจัดการสินค้าคงคลังแล้ว แสดงว่าสามารถเลื่อนไปทำหน้าที่ผู้จัดการแผนกสินค้าคงคลังได้

สุดท้ายนี้อย่าลืมว่า Gamification จะต้องมีการปลดล็อกกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อล่ารางวัล โดยใช้การแข่งขัน, การร่วมมือ, ปฏิสัมพันธ์กัน ที่อาจนำ social media มาใช้ให้เกิดประโยชน์