ครม.ไฟเขียว ตั้ง “สภาดิจิทัล” ภาคเอกชนดูแลเป็นหลักทำงานควบคู่กับรัฐบาล

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เวลา 15.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ตามแนวทางที่ภาคของเอกชนที่ได้มีการรวมรวมแล้วนำเสนอ โดยเล็งเห็นว่าในอนาคต เรื่องของดิจิทัลจะมีผลต่อธุรกิจและเศรษฐกิจมีความสำคัญ ซึ่งสภานี้จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญและชัดเจนขึ้นในอนาคต

โดยสภาดิจิทัลฯมีภารกิจหลักอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ขับเคลื่อนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล, 2.สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3.ทำงานร่วมกับรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล และ 4. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องของดิจิทัล

ในส่วนของสมาชิกสภาดิจิทัลฯ แบ่งเป็น 3 ประเภท 1.สมาชิกสามัญ ประกอบด้วย บริษัทจำกัด, บริษัทมหาชนจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด (จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล) 2.สมาชิกวิสามัญ ประกอบด้วยบุคคลธรรมดาผู้ประกอบธุรกิจ และอุตสาหกรรมดิจิทัลผู้ประกอบการที่ใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับดิจิทัล 3.สมาชิกกิตติมศักดิ์ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถอยู่ในแวดวงของดิจิทัล โดยคณะกรรมนุดนี้สามารถกำหนดนโยบายและการดำเนินงานของสภาดิจิทัลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นภาคเอกชนทั้งหมด แต่ทำงานควบคู่ไปกับทางภาครัฐ โดยจะให้รัฐมนตรีว่าการรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กำกับการดูแลการทำงานของสภาดิจิทัล โดยมีอำนาจในการตรวจสอบและขอความเห็นชอบเปลี่ยนตัวกรรมการได้กรณีที่เกิดปัญหาได้