“ลาซาด้า”จัดใหญ่มหกรรม “11.11” ย้ำควบรวม”อาลีบาบา”เต็มรูปแบบมั่นใจตลาดไทยปัจจัยบวกเพียบ

หลังจาก “อาลีบาบา” เข้าซื้อกิจการของ “ลาซาด้า” เมื่อ เม.ย. 2559  การจัดมหกรรมลดราคาในวันที่ 11 เดือนพ.ย. หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ  “11.11” เช่นเดียวกับที่ “อาลีบาบา” จัดอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีในประเทศจีน ก็ถูกฉายภาพให้เด่นชัดขึ้น

แต่ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ “ลาซาด้า ประเทศไทย” มีผู้บริหารสายตรงจากอาลีบาบา “เจมส์ ตง” นั่งเป็นเบอร์ 1 ในตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร”  พร้อมประกาศชัดว่า เทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ในปีนี้ จะ “ใหญ่ยิ่งกว่าและดียิ่งกว่าเดิม”

“นับเป็นปีแรกที่อาลีบาบากับลาซาด้าควบรวมกิจกรรมอย่างเต็มรูปแบบ เทศกาล 11.11 ปีนี้จึงจะใหญ่ยิ่งกว่า ดียิ่งกว่า ด้วยการปูพรมสร้างความรับรู้ให้กับผู้บริโภคในทุกช่องทางทุกพื้นที่ เรียกว่า หันไปทางไหนก็จะต้องเห็นการโปรโมท ซึ่งในการจัดเทศกาลช้อปปิ้ง 9.9 เมื่อวันที่ 9 เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา แค่เพียงชั่วโมงเดียว มีคนเข้ามาในแอปพลิเคชั่นของลาซาด้ากว่า 11 ล้านคน  เทศกาล 11.11 ครั้งนี้เชื่อว่ากระแสตอบรับจะยิ่งดีขึ้น”

โดยครั้งนี้จะมีโปรโมชั่นจากแบรนด์ดังมากกว่า 400 แบรนด์ และผู้ขาย Seller ผู้ประกอบการรายย่อยกว่าหมื่นราย เข้าร่วม พร้อมมีส่วนลดสูงสุดกว่า 90%  ทั้งยังเตรียมความพร้อมด้านของระบบโลจิสติกส์เพื่อให้สินค้าไปถึงมือลูกค้าได้เร็วที่สุดหลังจากสั่งซื้อ ซึ่งตั้งเป้าจะให้ไม่เกิน 2 วัน

และปีนี้จะมีการจัดกิจกรรมนับถอยหลังเหมือนที่ “อาลีบาบา” จัดที่ประเทศจีน โดยจัดขึ้นที่ไบเทคบางนา ในวันที่ 10 พ.ย. 2561 ซึ่งจะมีคอนเสิร์ตจากหลายศิลปิน รวมถึงแบรนด์แอมบาสเดอร์อย่าง “เบลล่า ราณี” พร้อมถ่ายทอดสดทางช่องทีวีดิจิทัล “3HD” ตั้งแต่เวลา 22.45 – 00.15 น.

“อีคอมเมิร์ซในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากด้วย ความพร้อมของผู้บริโภคทั้งอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สูง รวมถึงอัตราการช้อปปิ้งออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่อยู่แค่ 10% ของผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพียง 1 ปีที่ผ่านมาขยับไปอยู่ที่ 25% แล้ว ขณะที่รัฐบาลผลักดันทั้งไทยแลนด์ 4.0 การก้าวสู่สังคมไร้เงินสด จึงมีส่วนสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ดังนั้น ลาซาด้าจะไม่หยุดในการลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของอีคอมเมิร์ซและการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า”

ด้านนายไซม่อน แบ๊บติส นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองระดับโลก ของ The Economist intelligence Unit ระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีโอกาสเติบโตสูงมาก ด้วยการเติบโตของอุปสงค์ภายในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1% รายได้เฉลี่ยต่อปีต่อครัวเรือนของไทยที่คาดว่าจะสูงขึ้นจาก 8,790 เหรียญสหรัฐในปี 2560 เป็น 18,900 เหรียญสหรัฐในปี 2573  ผู้บริโภคไทยไว้วางใจในความปลอดภัยของอีคอมเมิร์ซในระดับ 75% ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างสูง

ขณะที่โครงการเน็ตประชารัฐของรัฐบาลช่วยส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในราคาถูกได้ในวงกว้างขึ้น  เพียงแต่จำเป็นต้องมีการสร้างความไว้วางใจเพิ่มขึ้นในการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแก้ปัญหาคอขวดของโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ในส่วนของต้นทุนการผลิต การจัดจำหน่าย การสร้างเครือข่ายคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างเมือง