
บอร์ด “แคท-ทรู” ไฟเขียวทำสัญญาระงับข้อพิพาทปมสัมปทานมือถือ เลียนแบบโมเดล “ดีแทค” ขีดเส้นไม่เกินสิ้นปีปิดดีลเรียบร้อย ฟาก “ทรู” ย้ำ win-win ทั้งคู่ เร่งเคลียร์ปมสัมปทานลุยธุรกิจหาเงินจ่ายค่าคลื่น 6.4 หมื่นล้านปี”63 แต่ยังกังวลคดีค่า AC 5.9 หมื่นล้าน ยังค้างเติ่ง พร้อมลุยฟ้อง “กสทช.” เพิกถอนคำสั่งเรียกส่งรายได้กว่า 3.3 พันล้านบาท
แหล่งข่าวระดับสูงภายใน บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมบอร์ดแคทล่าสุด (31 ต.ค. 2561) มีมติเห็นชอบการระงับข้อพิพาทในส่วนของเสาโทรคมนาคม ภายใต้สัมปทานระหว่างแคทกับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ด้วยการทำสัญญาระงับข้อพิพาทและสัญญาให้บริการเกี่ยวกับเสาโทรคมนาคม รวมถึงสัญญาการขอใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมระหว่างกัน โดย “ทรูมูฟ” จะโอนเสาตามสัมปทานทั้งหมดคืนให้ก่อนจะทำสัญญาเช่าใช้เสาเป็นรายปี
“บอร์ดทรูฯ มีมติเห็นชอบแล้วก่อนนี้ ขั้นตอนจากนี้คือยกร่างสัญญาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับที่ลงนามกับดีแทคไปแล้ว อาจจะไม่ต้องส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ ก็จะลงนามได้เร็ว ๆ นี้ ยุติข้อพิพาทที่ยาวนาน ทั้งที่สัมปทานระหว่างแคทกับทรูมูฟสิ้นสุดตั้งแต่ ก.ย. 2556 แล้ว แคทจะได้เข้าไปจัดการทรัพย์สินสัมปทานได้เต็มที่”
โดยก่อนนี้แคทได้ลงนามระงับข้อพิพาทกับ “ดีแทค” เมื่อ 14 ก.ย. 2561 โดยดีแทคได้โอนเสาใต้สัมปทานคืนราว 8,000 แห่ง และดีแทค ไตรเน็ตได้ทำสัญญาเช่าใช้เสาขั้นต่ำ 8 ปี ค่าเสาปีละ 1,689 ล้านบาท ค่าเช่าระบบสื่อนำสัญญาณและอุปกรณ์ 810 ล้านบาทต่อปี อุปกรณ์โทรคมนาคมภายใต้สัญญาอีกราว 226-790 ล้านบาทต่อปี
ก่อนหน้านี้ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการ แคท เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2561 จะพลิกกลับมามีกำไรแน่นอน หลังจากขาดทุนกว่า 5,000 ล้านบาทในปี 2560 เนื่องจากได้รับรู้รายได้จากการทำสัญญาระงับข้อพิพาทกับ “ดีแทค” ซึ่งหากสามารถทำสัญญาในรูปแบบเดียวกันกับกลุ่มทรูได้ จะยิ่งทำให้แคทมีกำไรเพิ่มขึ้น
เคลียร์อดีตเพื่อเดินสู่อนาคต
ด้านแหล่งข่าวภายใน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทต้องการยุติข้อพิพาทจากสัมปทานทั้งหมดเพื่อเริ่มเดินหน้าทำธุรกิจต่ออย่างไร้ข้อกังวล เพราะในปี 2563 บริษัทมีภาระต้องจ่ายเงินประมูลคลื่นก้อนใหญ่กว่า 64,433.26 ล้านบาท และแม้ว่าการระงับข้อพิพาทจะเจาะจงเฉพาะ “เสาโทรคมนาคม” แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ข้อพิพาทอื่น ๆ ถือเป็นเรื่องปลีกย่อยที่สามารถเจรจาได้
“ที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนว่า บอร์ดแคทมีอำนาจตัดสินใจได้แค่ไหน เมื่อแคทเซ็นสัญญากับดีแทคได้เรียบร้อย จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาอะไรมาเพิ่มทีหลังอีก คาดว่าจะลงนามในสัญญาทั้งหมดได้ภายในสิ้นปี 2561 พร้อมกับการจ่ายค่าเช่างวดแรก โดยทรูจะจ่ายค่าเช่าทั้งหมดในอัตราเฉลี่ยต่อเสาต่ออุปกรณ์ที่ใกล้เคียงกับที่ดีแทคจ่ายให้แคท ถือว่า win-win กันทั้ง 2 ฝ่าย”
พิพาทสัมปทานเฉียด 7 หมื่นล้าน
สำหรับข้อพิพาทจากสัมปทานที่สำคัญมี 15 คดี ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในกระบวนการของอนุญาโตตุลาการ และศาลปกครอง แบ่งเป็น “ทรูมูฟ” ฟ้องแคท 1 คดี เรียกให้คืนผลประโยชน์ตอบแทนที่คิดจากฐานรายได้ที่เกิดจากค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) 11,827.67 ล้านบาท และ “แคท” ฟ้องทรูมูฟ 14 คดี รวมมูลค่าพิพาท 58,161.85 ล้านบาท
ส่วนที่เกี่ยวกับเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์โดยตรง ได้แก่ เมื่อ 29 ม.ค. 2552 แคทได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการให้ “ทรูมูฟ” ส่งมอบ-โอนกรรมสิทธิ์ในเสาที่ติดตั้งเครื่องและอุปกรณ์ 4,546 ต้นให้ หากไม่ส่งมอบให้ชำระค่าเสียหาย 2,766.16 ล้านบาท
เมื่อ 22 เม.ย. 2556 แคทได้ยื่นข้อพิพาทให้ส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายโทรคมนาคมประเภท passive รวมถึงอุปกรณ์ mobile car ตู้คอนเทนเนอร์ราคาปลูกสร้าง (shelter) หากไม่ส่งมอบต้องชำระค่าเสียหาย 821.14 ล้านบาท 12 พ.ย. 2556 แคทยื่นข้อพิพาทให้ทรูมูฟส่งมอบ-โอนกรรมสิทธิ์เครื่องและอุปกรณ์ generator จำนวน 59 สถานีให้ หากไม่โอนให้ชดใช้ 39.57 ล้านบาท
ทั้งยังมีข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการใช้โครงข่าย ได้แก่ เมื่อ 11 ก.ย. 2558 แคทได้ยื่นฟ้องทรูมูฟต่อศาลปกครอง อ้างว่าได้ใช้เครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมภายใต้สัมปทาน หลังจากสัมปทานสิ้นสุดระหว่างวันที่ 16 ก.ย. 2557-17 ก.ค. 2558 โดยไม่ได้ทำข้อตกลงใด ๆ กับแคท จึงเรียกค่าใช้จ่าย 4,991 ล้านบาท และยื่นฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนของวันที่ 18 ก.ค. 2558-3 ธ.ค. 2558 อีก 2,206 ล้านบาท กับส่วนที่ฟ้องให้ทรูมูฟรื้อถอนอุปกรณ์สำหรับย่าน 2100 MHz ที่ติดตั้งบนโครงข่ายสัมปทานออก หรือชดใช้ค่าเสียหาย 417 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีข้อพิพาทที่แคทฟ้องให้ทรูมูฟจ่ายส่วนแบ่งรายได้เพิ่มอีก 4 คดี รวมมูลค่า 23,402.87 ล้านบาท
ค่า AC ค้าง 5.9 หมื่นล้านบาท
ด้านแหล่งข่าวภายใน บมจ.ทรูฯ กล่าวว่า ปัญหาจากสัมปทานใหญ่สุด คือ กรณีค่าเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเดิม (access charge) ที่ บมจ.ทีโอทีได้ยื่นฟ้องแคทและผู้รับสัมปทานทั้งหมดมูลค่ารวมกว่า 3.4 แสนล้านบาท ตั้งแต่เมื่อ 9 พ.ย. 2554 ปัจจุบันคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งเฉพาะ “ทรูมูฟ” ถูกฟ้องให้จ่ายเงินต้น 59,628 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัทนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการหลังสิ้นสุดสัมปทานตั้งแต่ 16 ก.ย. 2556 ถึง 3 ธ.ค. 2558 ตามประกาศของ กสทช.เป็นเงิน 3,380,083,292.90 บาท (หักค่าโครงข่ายของแคท 1,875,043.24 บาทแล้ว) ทาง “ทรูมูฟ” จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเป็นยอดรายได้ที่ไม่ตรงกับการคำนวณของบริษัท โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 2 พ.ย. 2559 “ทรูมูฟ” ได้ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองในกรณีเดียวกันนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง
“ที่กังวลสุดคือ คดีค่า AC เป็นเรื่องใหญ่มีมูลค่าข้อพิพาทสูง และไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ผลจะออกมาในรูปแบบไหนและจะได้ข้อยุติเมื่อใด ถ้าจบลงไปได้ก็จะปิดฉากสัมปทานได้เสียที”