นับถอยหลัง กม.อีคอมเมิร์ซ แนะรัฐเน้น “ส่งเสริม” มากกว่า “ควบคุม”

งวดเข้ามาทุกทีสำหรับการบังคับใช้ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ….” ล่าสุด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (ETDA) จึงจัดเสวนาโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น

ต้นปี’61 บังคับใช้ กม.

“สุรางคณา วายุภาพ” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (เอ็ตด้า) กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการแก้ไขครั้งที่ 2 เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพ มั่นคงปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ โดยมีการเพิ่มเติมมาตรการรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้น

ภาพรวมสำคัญที่มีการแก้ไข เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์ลายมือชื่อในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อรองรับการทำสัญญาผ่านระบบข้อมูลอัตโนมัติ ตามแนวทาง United Nations Convention on the Use of Elec-tronic Communications in International Contracts (UNCECC), การเพิ่มเติมบทบัญญัติรองรับกรณี Input Error, Automatic Data System, Invitations to Make Offers และกำหนดหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล โดยปรับปรุงขั้นตอนการกำกับดูแลให้ชัดเจน รวมทั้งปรับองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ เน้นกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น คาดว่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ รวบรวมความคิดเห็นเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจะใช้เวลาเดือนครึ่ง นำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มั่นใจว่าต้นปี 2561 จะบังคับใช้กฎหมายได้

แนะรัฐเปลี่ยนมุมคิด

ด้านนายวรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาที่ประสบมาตลอดคือ ภาครัฐไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอีคอมเมิร์ซ ซึ่งอีคอมเมิร์ซปัจจุบันแปลงสภาพเป็น “อีบิสซิเนส” ที่มี 4 องค์ประกอบหลัก คือ อีคอมเมิร์ซ, อีไฟเเนนซ์ หรืออีเพย์เมนต์, อีโลจิสติกส์ และอีอินฟอร์เมชั่น(บิ๊กดาต้า) กฎหมายไทยจึงไม่ควรละเลย 3 ด้านที่เหลือ อีกสิ่งที่กังวลคือ หลายหน่วยงานรัฐต้องร่วมมือกัน แต่โครงสร้างยังไม่เอื้อ เนื่องจากปัญหากฎระเบียบของแต่ละหน่วยงานจึงควรมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุม โดยให้น้ำหนักด้านส่งเสริม 80% มากกว่าควบคุม

“เอกชนไม่ได้คาดหวังกับรัฐเพราะเดินด้วยตนเอง และพร้อมปรับตาม จึงต้องออกกฎที่จะไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต ที่ผ่านมารัฐเน้นกำกับดูแล 80% สนับสนุน 20% ควรกลับกัน ประเทศที่พัฒนาอีบิสซิเนสจะมีหน่วยงานและให้ข้อบังคับหลวม ๆ ให้ใช้วิจารณญาณในการดูแล ตรงข้ามกับไทย เมื่อทำแบบนี้ต้องหาคนเก่ง และคนดี ซึ่งไม่ง่าย และรัฐต้องให้ความสำคัญมาก ๆ”

ประสานความร่วมมือรัฐ-เอกชน

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซ และผู้ก่อตั้ง TARAD.com กล่าวว่า ภาครัฐกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่อยากให้มีบุคลากรที่รู้ด้านอีคอมเมิร์ซเข้ามาทำงาน และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น ที่ผ่านมาสมาคมอีคอมเมิร์ซพยายามเป็นตัวกลางในการคุยกับภาครัฐ ลดการทำงานซ้ำซ้อนทำให้มีความร่วมมือกันง่ายขึ้น การผลักดันอีคอมเมิร์ซดีขึ้น แต่ยังไม่พอถ้าเทียบกับต่างประเทศ เช่น ในไต้หวัน รัฐบาลตื่นตัวมาก หรือมาเลเซียมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบและมีกรอบการทำงานชัดเจน ซึ่งไทยเริ่มทำกรอบอีคอมเมิร์ซแล้ว จึงอยากชักชวนหลายภาคส่วนมาช่วยเพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกัน

และตนมองว่า อีก 5-10 ปี อีคอมเมิร์ซจะตกอยู่ในมือต่างชาติ เช่น จีน และสหรัฐ ทำให้ข้อมูลอยู่ต่างประเทศและทำให้การหาหลักฐานซับซ้อนขึ้น ทั้งบริษัทเหล่านี้จะเข้ามากินรวบตลาด ทำให้ผู้เล่นไทยอยู่ยาก เหลือรายใหญ่ไม่กี่ราย เช่นเดียวกับผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวหรือโรงแรม ที่อยู่ภายใต้เว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น อะโกด้า และขยายไปอุตสาหกรรมอื่น เช่น แท็กซี่ เป็นต้น

เพิ่มความรู้นัก กม.รุ่นใหม่

ด้าน นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายที่ออกมาช้ามาก และไม่ได้ช่วยภาคเอกชนเลย เนื่องจากคนใช้โซเชียลมีเดียกว่า 90% จึงเกิดข้อพิพาททางกฎหมายเยอะมาก แต่มีจุดดีคือ นำพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในชั้นศาลได้ แต่ไทยยังขาดหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญในการนำพยานหลักฐานไปใช้ เป็นความท้าทายของนักกฎหมายรุ่นใหม่ ทั้งเอกชนยังไม่เข้าใจเนื้อหาข้อกฎหมายทางเทคนิคด้านอิเล็กทรอนิกส์ เช่น มาตรการการจัดเก็บข้อมูลหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์

นายมุขเมธิน กลิ่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ปัญหาของคดีที่ใช้เทคโนโลยี คือมาที่ศาลไหน หรือผู้พิพากษาคนไหนก็ได้ ดังนั้นจะฝึกผู้พิพากษา 4,000 กว่าคน ให้เข้าใจกฎหมายใหม่ ๆ อย่างไร แต่ละคนมีความถนัดต่างกัน ทั้งขาดผู้เชี่ยวชาญในการนำเสนอหรือพิสูจน์พยานหลักฐานในศาล ถ้ามีจะช่วยได้มาก สำหรับแนวทางการหาผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นคนนอก ถ้าหน่วยงานของไทยสร้างบุคลากรได้ก็นำมาเชื่อมกับระบบของศาล เพื่อดึงข้อมูล

“ศาลพยายามพัฒนาระบบเพื่อหาผู้เชี่ยวชาญ โดยหาจากทะเบียนผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่มี เช่น แพทย์ จากก่อนหน้านี้มีแผนให้ผู้เชี่ยวชาญมาลงทะเบียนเอง และกำลังสร้างห้องพิจารณาคดีอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำพยานหลักฐานแบบอิเล็กทรอนิกส์มานำเสนอแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ไอทีเข้าไปเกี่ยวทุกคดีทั้งคดีครอบครัว คดีเด็ก ศาลพยายามทำให้ผู้พิพากษามีความรู้ด้านไอทีในทุก ๆ ศาล แต่ปัญหาคือไม่สามารถทำให้ทุกคนรู้เรื่องได้ แต่ก็กำลังพัฒนา”