
คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง
ปัญหาที่เป็นหนามยอกอกของนักศึกษาในอเมริกามาเนิ่นนาน คงหนีไม่พ้น ปัญหาหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษา
ปัจจุบันมีนักเรียนที่เป็นหนี้ 44 ล้านคน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญ โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 21 ปี กว่าจะปลดหนี้หมด เรียกได้ว่าเป็นหนี้ตั้งแต่เด็กยันแก่เลยทีเดียว
“สตาร์ตอัพ” ที่เราจะพูดถึงในวันนี้ มีชื่อว่า MissionU ผู้นำเสนอหลักสูตรติวเข้ม 1 ปี เจาะลึกเฉพาะวิชาที่เป็นที่ต้องการในโลกธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกทางการศึกษา
ที่สำคัญคือ ให้เรียนฟรีจนจบหลักสูตร เมื่อมีงานทำและมีรายได้ถึงเกณฑ์แล้วค่อยมาใช้เงินคืน ตัดปัญหาการต้องวิ่งกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่าเทอมเหมือนเมื่อก่อน
ผู้ก่อตั้งคือ “อดัม บราวน์” หนุ่มวัย 33 ผู้เคยปลุกปั้น Pencils of Promise จนกลายเป็นโซเชียลสตาร์ตอัพ ที่โด่งดังมาแล้ว ด้วยการระดมทุนสร้างโรงเรียนในประเทศยากจนกว่า 400 แห่งทั่วโลก
ภารกิจใหม่ของอดัมคราวนี้ คือทำให้นักเรียนที่จบจาก MissionU มีงานการทำที่ดี และไม่ต้องมีหนี้สินรกรุงรัง ด้วยชื่อเสียงที่ติดตัวมาตั้งแต่สมัยทำ Pencils of Promise ทำให้เขาระดมทุนมาได้ 3 ล้านเหรียญในรอบแรก แต่กว่าจะพัฒนาหลักสูตรออกมาได้ อดัมต้องพบปะพูดคุยกับนักวิชาการด้านการศึกษา หัวหน้าฝ่าย HR รวมไปถึงต้องขอคำแนะนำโดยตรงจากบรรดานายจ้างอย่างสตาร์ตอัพชื่อดังหลายแห่ง เช่น Warby Parker, Lyft, Birchbox, Spotify และ Casper เพื่อให้มั่นใจว่าทุกวิชาที่เลือกมาจะช่วยผลิตคนที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการในตลาดแรงงานอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ เขายังชวนเพื่อน ๆ สตาร์ตอัพเหล่านี้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรของโครงการด้วย โดยนอกจากจะให้คำแนะนำในแง่หลักสูตรแล้ว บริษัทพวกนี้ยังอาสาจัดหาวิทยากรรับเชิญและผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียนตลอดปีการศึกษา แลกกับโอกาสในการจีบเด็กเก่ง ๆ ของ MissionU ไปทำงานก่อนใคร
และเพราะเป็นหลักสูตรที่อดัมตั้งใจปั้นคนที่มีศักยภาพจริง ๆ เขาจึงกำหนดจะรับแค่รุ่นละ 25 คนเท่านั้น สำหรับรุ่นแรกที่ปิดรับสมัครไปแล้ว มีคนมาสมัครถึง 4,700 คน เท่ากับโอกาสสอบติดมีน้อยกว่า 1% เสียอีก เทียบกับการสอบเข้าฮาร์วาร์ด ซึ่งมีโอกาสสอบติดที่ 5% การสอบเข้า MissionU ถือว่าโหดกว่ามาก
ข้อดีคือ MissionU เปิดกว้างให้ใครก็ตามที่มีอายุ 19-29 ปี สมัครได้ โดยไม่มีการจำกัดวุฒิ และไม่ดูเกรด มีกติกาข้อเดียวคือ ต้องฝ่าด่านทดสอบทั้งหมดไปได้ โดยการทดสอบมีทั้งสอบข้อเขียนแบบเดี่ยว สอบแก้ไขปัญหาแบบกลุ่ม และสอบสัมภาษณ์เพื่อดูทัศนคติและความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
สำหรับการเรียนตลอดทั้งปีนั้น แบ่งเป็น 4 ส่วน เริ่มจากการปูพื้นฐาน โดยมีวิชาเอก คือ Data Analytics และ Business Intelligence หลังจากนั้นจะเข้าสู่การค้นหาจุดแข็งของแต่ละคน การเจาะลึกเพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ และสุดท้าย คือการออกไปฝึกงานเพื่อทดลองนำความรู้ที่ได้รับไปใช้จริงในภาคสนาม
การเรียนส่วนใหญ่จะผ่านระบบออนไลน์แบบ real-time virtual classroom เน้นทำโปรเจ็กต์ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีม มีคลาสเรียนสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง มีการประชุมเห็นหน้าอย่างน้อยเดือนละครั้ง ส่วน 6 สัปดาห์สุดท้ายเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การสมัครงานเต็มรูปแบบทั้งการติวเข้มสัมภาษณ์ ต่อรองเงินเดือน เขียนใบสมัคร และอื่น ๆ
หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว MissionU มีรายได้จากไหน คำตอบคือบริษัทจะได้เงินเมื่อนักเรียนที่จบออกไปแล้วมีงานทำและมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 เหรียญต่อปี
โดยบริษัทหัก 15% ของรายได้เป็นเวลา 3 ปี ตอนนี้เปิดรับสมัครไปแล้ว 3 รุ่น รุ่นแรกจะเริ่มเรียนในเดือนกันยายนนี้ แต่อดัมตั้งใจว่าจะเปิดรอบรับสมัครให้ถี่ขึ้น โดยตั้งเป้าผลิตบุคลากรฝีมือดีออกสู่ตลาดงานหลายพันคนภายในปี 2020 และโดยเฉลี่ยแต่ละคนควรมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 70,000 เหรียญต่อปี หากทำได้ตามนั้นจริง MissionU คงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
แน่นอนว่าหลักสูตรที่ยังไม่ได้รับการรับรองนี้ คงไม่สามารถมาแทนที่การศึกษาในระบบได้ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากพัฒนาตนเองในเวลาจำกัด และไม่ต้องการเป็นหนี้นาน ๆ ถือเป็นทางออกที่ไม่เลวเลย