ภาษีธุรกิจออนไลน์ กำลังจะบุกบัญชีธนาคารคุณ (1)


คอลัมน์ Pawoot.com โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมอยากพูดถึงเรื่องของพระราชบัญญัติอีเพย์เมนต์ ซึ่งเกี่ยวกับการปรับเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ภาครัฐพยายามผลักดันออกมา

ต่อไปนี้ สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet ที่ให้บริการในประเทศไทยทั้งหมด ต้องรายงานการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าให้สรรพากรรับทราบ

ผมขออธิบายรายละเอียดง่าย ๆ ว่า ถ้าใน 1 ปี เรามีเงินฝาก หรือเงินรับโอนเข้ามาในบัญชีของเราทุกบัญชี หากเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือมีการฝากรับหรือว่าโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป นั่นหมายถึงธนาคารต้องส่งข้อมูลนี้ให้กับสรรพากร

“กรมสรรพากร” จะเก็บข้อมูลเป็นเวลานาน 10 ปี หากไม่ปฏิบัติตามปรับ 1 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะรายงานข้อมูลให้ถูกต้อง โดยกำหนดให้รายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมเกิดขึ้นในรอบปีภาษี 2562 (ม.ค.-ธ.ค. 2562) ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ในเดือน มี.ค. 2563

เป้าหมายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ มุ่งไปที่ร้านค้าออนไลน์ที่ไม่อยู่ในระบบภาษี อีกเป้าหมายคือ บรรดาข้าราชการทุจริต ที่มีการโอนเงินเข้าบัญชี บรรดาธุรกิจผิดกฎหมาย ธุรกิจสีเทาต่าง ๆ เช่น โต๊ะบอล หรือพวกที่มีการโอนเงินไปมาทั้งหลาย

หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาน่าจะมีคนสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่คิดว่าทำให้ถูกต้องเลยแล้วกัน เปิดเป็นบริษัทเลย เวลามีเงินเข้าบริษัทอย่างน้อยก็แยกออกได้จากส่วนตัว แต่อีกกลุ่มที่พยายามดิ้นรนหาวิธีการหลบเลี่ยง เท่าที่ผมวิเคราะห์ก็เช่น จากการโอนเงินเข้าธนาคารของคนขายของที่มีระบบ QR code เมื่อสแกนปุ๊บ เงินก็เข้าบัญชีเลย หากมีคนมาสแกนทุกวัน วันละสิบกว่าครั้งตลอดทั้งปี กรณีนี้จะโดนรายงานภาษีแน่นอน ทำให้คนไทยหลายคนไม่ใช้ QR code หรือพร้อมเพย์ เพราะถ้าใช้แล้วเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือมีเงินเข้ารวมแล้วเกิน 2 ล้านบาทต่อปี จะโดนสรรพากรส่องแล้ว

ผลกระทบที่อาจเกิดแน่ ๆ คือ คนไทยส่วนหนึ่งที่ต้องการหลบเลี่ยงย้ายไปเปิดวอลเลตของต่างประเทศ เช่น PayPal ซึ่งสรรพากรตรวจไม่ได้ เงินไทยก็จะไหลออกนอกประเทศ

อีกกรณีที่น่าสนใจ คือ ตอนนี้ cryptocurrency ในเมืองไทยเริ่มถูกกฎหมาย ภาครัฐมีกฎหมายออกมารองรับแล้ว คนจะหันมาใช้ cryptocurrency ในการโอนเงินระหว่างกัน


จริง ๆ แล้ว cryptocurrency ภาครัฐเองตรวจสอบได้ เมื่อมีการเอาเงินเข้าหรือออก จะรู้ว่าเอาเงินเข้าออกโดยใครและไปที่ไหน แต่ระหว่างการซื้อขายกันนั้นการตรวจสอบค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก