ไทย-เทศแห่เปิดอีคอมเมิร์ซ จัดทัวร์บุกซื้อตรงโรงงานจีน

ทุนไทย-เทศแห่ตั้งบริษัทขายสินค้าออนไลน์เกลื่อนรับกระแสขาขึ้น นายกสมาคมไทยอีคอมเมิร์ซชี้ธุรกิจเห็นโอกาส เล็งลงทุนเพิ่ม ฟันธงสิ้นปีมูลค่าตลาดทะลุ 3.05 ล้านล้านบาท สินค้าจีนทะลักสบช่องบริษัททัวร์จัดแพ็กเกจพาไปซื้อสินค้าตรงจากโรงงาน พร้อมจัดล่ามส่วนตัว บริการนำเข้าสินค้าให้ด้วย

ความร้อนแรงของการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดเติบโตต่อเนื่องมีการจัดโปรโมชั่นจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งลาซาด้า, เจดี ดอทคอม,ช้อปปี้, อีเลฟเว่น สตรีท ฯลฯ มีกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งไทยและต่างประเทศที่กระโดดเข้ามาในตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจการจดทะเบียนบริษัท จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-ตุลาคม) พบว่า มีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนโดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่า เพื่อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ (47912) มีประมาณ 250 บริษัท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มียอดจดทะเบียนตั้งบริษัทเพียง 218 บริษัท

โดยในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 120 บริษัท เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ รองลงไปเป็นปทุมธานี และชลบุรี จังหวัดละ 16 บริษัท ส่วนอันดับ 3 เป็นสมุทรปราการ 15 บริษัท ตามมาด้วยนนทบุรี 14 บริษัท เชียงใหม่ 11 บริษัท นครราชสีมาและขอนแก่น จังหวัดละ 6 บริษัท นครปฐม 5 บริษัท ที่เหลือกระจายไปจังหวัดละ 1-2 บริษัท อาทิ อุบลราชธานี อุดรธานี สกลนคร สุพรรณบุรี สมุทรสาคร สิงห์บุรี ลพบุรี เพชรบุรี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา นราธิวาส เป็นต้น

นอกจากบริษัทส่วนใหญ่กว่า 200 บริษัทจดทะเบียนโดยชาวไทยยังมีอีกประมาณ 35-40 บริษัทที่มีชาวต่างประเทศเข้ามาร่วมถือหุ้น อาทิ เยอรมนี อเมริกัน เบลเยียมเนเธอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ฝรั่งเศส อินเดีย เป็นที่น่าสังเกตว่ามีชาวจีนเข้ามาร่วมถือหุ้นประมาณ 15 บริษัท และมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่กลุ่มทุนจีนถือหุ้น 100%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สินค้าที่บริษัทเหล่านี้ขายมีค่อนข้างหลากหลาย และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าแฟชั่น, เครื่องสำอาง-สกินแคร์ เครื่องหอม, เครื่องประดับ, ของเล่นเด็ก, อาหารเสริมสมุนไพรเพื่อสุขภาพ, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ-อิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทจำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มมีโรงงานผลิตสินค้าอยู่เดิม อาทิ เครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์ และตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่าย และเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าโดยตรง

ตลาดไทยโอกาสเติบโตดี

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Thai E-commerce Association) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจดทะเบียนตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้น สะท้อนว่า ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมองเห็นโอกาสการเติบโต และต้องการจะขยายการลงทุนในธุรกิจนี้ให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ค้าขายออนไลน์สามารถทำธุรกิจได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งบริษัทในไทยแต่อย่างใด โดยเฉพาะผู้ค้าต่างชาติสามารถใช้ช่องว่างของกฎหมายภาษีศุลากรที่เปิดช่องให้ส่งสินค้าที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาทเข้ามาในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องเสียภาษี

“เป็นปรากฏการณ์ที่น่าแปลกใจและน่าจับตา เพราะถ้าคิดจะแค่ซื้อมาขายไป ผู้ค้าต่างชาติก็ทำได้เลยโดยไม่ต้องมีภาระภาษีใด ๆ อยู่แล้ว หากเข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทแสดงว่ามีแผนจะขยายการลงทุนในไทยที่จริงจังมากกว่านั้น เช่น การขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น หรือมีการลงทุนในโลจิสติกส์เพิ่ม ส่วนผู้ประกอบการไทยที่มีการจดทะเบียนตั้งบริษัท อาจจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้รองรับกับกติกาภาครัฐที่พยายามจะให้ภาคเอกชนเข้าสู่ระบบภาษีให้มากขึ้น”

จัดทัวร์บุก รง.จีน-ผุดธุรกิจชิปปิ้ง

จากการสำรวจข้อมูลของสมาคม พบว่ากว่า 50% ของสินค้าและผู้ค้าบน 3 อีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ในไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าและผู้ค้าจากประเทศจีน ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรของเจ้าของ 3 อีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ที่ให้บริการอยู่ในไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจด้วยการเป็นตัวกลางนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาขายต้องเร่งปรับตัวรายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ในเว็บบอร์ด

สาธารณะและหลายกลุ่มโซเชียลมีเดีย เริ่มเห็นการโปรโมตแพ็กเกจทัวร์ไปประเทศจีนเพื่อพาผู้ค้าออนไลน์ไปซื้อสินค้าโดยตรงจากโรงงานมากขึ้น ซึ่งมีทั้งบริษัททัวร์ที่ทำธุรกิจนี้มานานและที่เพิ่งเริ่มเข้ามาจับธุรกิจนี้ โดยทัวร์ดังกล่าวจะเน้นพาไปที่เมืองกว่างโจว เสิ่นเจิ้น และอี้อู สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าแฟชั่นและของใช้ทั่วไป หรือเมืองฝอซานสำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ โดยจะจัดล่ามส่วนตัวให้กับลูกทัวร์แต่ละคน เพื่อพาไปเจรจาซื้อสินค้าตามที่ลูกทัวร์ต้องการ พร้อมมีบริการนำเข้าสินค้าให้ด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มนักศึกษาจีนในประเทศไทยและนักศึกษาไทยในประเทศจีน ที่คอยเข้ามาเสนอตามโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นไกด์ส่วนตัวให้กับผู้ค้าออนไลน์ที่ต้องการไปติดต่อที่โรงงานในประเทศจีนเอง แต่ไม่ต้องการซื้อแพ็กเกจทัวร์ด้วย

อีคอมเมิร์ซในไทยโตต่อเนื่อง

นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซ กล่าวเสริมว่า ตลาดที่อีคอมเมิร์ซในไทยยังเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะจบปีด้วยมูลค่ากว่า 3.05 ล้านล้านบาท จาก 2.81 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว ขณะที่แคมเปญช็อปปิ้งออนไลน์ในวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา หรือ “11.11” ช่วยกระตุ้นการเติบโตได้ดี และเป็นจุดเริ่มต้นในการโหมแคมเปญตลาดรับกำลังซื้อช่วงโค้งท้ายปีได้อีกมาก

ขณะที่บริษัทไปรษณีย์ไทย ระบุว่า “11.11” ทำให้ยอดใช้บริการไปรษณีย์ EMS และไปรษณีย์ลงทะเบียนเพิ่มถึง 70% จากช่วงเวลาปกติ สะท้อนถึงการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ”ช้อปปี้” หนึ่งในผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ในไทย เปิดเผยว่าแคมเปญ 11.11 มียอดสั่งซื้อทั้งอาเซียนกว่า 11 ล้านออร์เดอร์ สูงกว่าปีก่อนถึง 4.5 เท่า เฉพาะในไทยมียอดคำสั่งซื้อสูงกว่า 1,909 เท่า

“เอคอมเมิร์ซ” ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรในอาเซียน ระบุว่า “11.11” ย้ำการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในอาเซียน บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 300% ซึ่งประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโต