ย้ำกำกับดาวเทียมต่างด้าวต้องเป็นวาระนานาชาติ

ดีอีเร่งผลักดันร่างแลนดิ้งไลต์เปิดทางดาวเทียมต่างชาติให้บริการในไทย พร้อมชง “กสทช.” กำหนดวิธีคัดเลือกหาบริษัทได้สิทธิ์ใช้วงโคจรของประเทศรับเทรนด์ยักษ์ต่างชาติแห่ยิงดาวเทียมวงโคจรต่ำปูพรมรอบโลก ฟาก “สุธรรม” ย้ำจะบังคับใช้ได้จริง ต้องผลักดันเป็นวาระระดับนานาชาติ

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า เทคโนโลยีดาวเทียมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายประเทศสร้างดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ไว้ให้บริการจำนวนมาก รวมถึงต่อยอดจนเกิดธุรกิจใหม่

ล่าสุด คณะกรรมการดีอีเห็นชอบร่างนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ (แลนดิ้งไลต์) และร่างแนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (GSO) เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ที่กำหนดให้ต้องรักษาสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม

ผศ.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ร่างทั้ง 2 ฉบับ หลังจากบอร์ดดีอีอนุมัติแล้วจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนส่งกลับให้กระทรวงดีอีออกประกาศแลนดิ้งไลต์ ซึ่งหลักสำคัญคือจะอนุญาตให้กับดาวเทียมของประเทศที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการไทยไปให้บริการดาวเทียมในประเทศนั้น ๆ แต่ยังจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายการให้บริการของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อาทิ ผู้ให้บริการด้านบรอดแคสต์คอนเทนต์ ต่างชาติจะถือหุ้นในบริษัทได้ไม่เกิน 25% กิจการโทรคมนาคมไม่เกิน 49%

ขณะที่ร่างแนวทางดำเนินการในกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ เมื่อ ครม.มีมติแล้ว จะส่งกลับให้ “กสทช.” เป็นผู้กำหนดวิธีการคัดเลือกเพื่อให้เอกชนมีสิทธิ์ใช้วงโคจรดาวเทียมที่อยู่ในไฟลิ่งของประเทศไทย เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ต่อไป

“การให้ไลเซนส์ให้มีสิทธิ์ใช้วงโคจร ไม่เกี่ยวกับ PPP (การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน) แต่ถ้าเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินสัมปทานเดิมของ บมจ.ไทยคม ที่จะสิ้นสุดในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งก็อาจจะต้องทำ PPP โดยตามกรอบของกฎหมายที่มีอยู่เมื่อสัมปทานจบจะมีทางเลือกแค่ 3 ทาง คือ รัฐทำเอง ให้เอกชนอื่นทำ หรือให้เอกชนรายเดิมทำ”

ด้าน รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม อดีต กสทช. กล่าวว่า เทคโนโลยีดาวเทียมในปัจจุบันก้าวหน้าไปไกลกว่ากฎเกณฑ์การกำกับดูแลแบบเดิม แต่แนวทางแลนดิ้งไลต์ก็ยังเป็นประโยชน์ที่จะเปิดทางสู่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยกิจการอวกาศอย่างจริงจัง แทนที่ยึดหลักเดิมที่ห้ามต่างชาติทั้งที่ห้ามไม่ได้


“กิจการดาวเทียมเป็นโกลบอลมาร์เก็ต ไทยปฏิเสธไม่ได้ แต่การจะบังคับเกณฑ์ที่ประกาศได้จริง ต้องจับมือกับหลายประเทศเพื่อผลักดันให้เป็นวาระสำคัญระดับภูมิภาค ระดับนานาประเทศ เพื่อหาทางสร้างอำนาจต่อรองเปลี่ยนประโยชน์ระหว่างรัฐ อย่างสหรัฐอเมริกาเพิ่งออกไลเซนส์ให้ยิงดาวเทียมไป 8,000 กว่าดวง และคาดการณ์กันว่าภายในปี 2563 จะมีดาวเทียมทั่วโลกกว่า 30,000 ดวง”